ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารและสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลปกป้องคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งด้านควบคุมป้องกันโรค รักษาพยาบาล จัดหายา เวชภัณฑ์ และวัคซีน เนื่องจากทำงานและตัดสินใจบนภาวะเร่งด่วน มีข้อจำกัดเรื่ององค์ความรู้และทรัพยากร เพื่อลดวิตกกังวลและสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงาน
วันนี้ (11 ส.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมประกาศแถลงการณ์ขอให้คุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ เห็นพ้องต้องกันว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ร้ายแรง ที่มีผลกระทบในวงกว้างทุกมิติ ทำให้มีผู้คนเจ็บป่วยจำนวนมาก และบางครอบครัวต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ระบบสาธารณสุขของไทยได้ต่อสู้กับโรคนี้มานานเกือบ 2 ปี ด้วยสรรพกำลังทั้งภาครัฐ เอกชน จิตอาสา ประชาสังคม และประชาชน ด้วยสถานการณ์ทุกด้านที่มีความเร่งด่วน ต้องการความร่วมมือร่วมใจในการควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาลในทุกวิถีทางที่จะทำได้ รวมทั้งการจัดหายา เวชภัณฑ์และวัคซีน ซึ่งการตัดสินใจและการทำงานในภาวะเร่งด่วน รวมทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องขององค์ความรู้และทรัพยากร อาจก่อให้เกิดความไม่สมบูรณ์ หรืออาจเกิดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานโดยสุจริตใจได้
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพข้างต้น ขอเสนอให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณาดำเนินการหามาตรการในการปกป้องคุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนนักวิชาการต่างๆ เพื่อลดความวิตกกังวล และสร้างความมั่นใจในการทำงานที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป
อย่างไรก็ตาม การออกมาประกาศแถลงการณ์ดังกล่าวนั้น มีขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในสังคมถึงการที่รัฐบาลกำลังมีแนวคิดที่จะออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยความคืบหน้าล่าสุดนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน พร้อมกับยืนยันว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจะคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด
- สธ.ยันออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากรแพทย์
- เสี่ยหนู ย้ำอีก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ ปกป้องคนทำงาน ยังแค่ยกร่าง-อย่ามองเป็นการเมือง
ในขณะที่อีกด้านหนึ่งฝ่ายนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชน ก็ยังคงมีข้อสงสัยและคำถามในร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่า อาจจะไม่เข้าเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ที่รัฐบาลจะสามารถประกาศใช้เป็น พ.ร.ก. พร้อมกับสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่นำไปพิจารณาในรัฐสภาในรูปแบบของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพราะปัจจุบันก็ยังอยู่ในช่วงเปิดประชุมสมัยสามัญ
นอกจากนี้ ในเอกสารสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวนั้น ในหัวข้อที่กำหนดบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ บุคลากรสาธารณสุขและสถานพยาบาล แต่ในข้อ 7 ของกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข ระบุถึงบุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน จนทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนเพียงบางคนที่อยู่ในระดับกำหนดนโยบายหรือไม่
- “วิษณุ” เบรก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมบุคลากรแพทย์ เตือน “อนุทิน” กลับไปคิดให้ดี
- วิโรจน์ จี้ล้มเลิก พ.ร.ก.นิรโทษจัดหาวัคซีน ลั่นอย่าเอาหมอบังหน้า ปล่อยนักฆ่าลอยนวล
- นักวิชาการจุฬา เชื่อ พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ ไม่จำเป็น! แถมไม่เข้าเกณฑ์ รธน. มาตรา 172