หากเปิด Google เพื่อดูทำเนียบแชมป์กีฬาบาสเกตบอลชายในโอลิมปิก คุณจะพบว่าในการแข่งขันปี 1972 สหภาพโซเวียต คือชาติที่ได้ตำแหน่งนั้นจากการเอาชนะ สหรัฐอเมริกา ในรอบชิงชนะเลิศ
แล้วยังไงต่อ ? … เรื่องนี้มันคงไม่น่าสนใจอะไรหากมันเป็นแค่สถิติหรือประวัติศาสตร์ทั่วไป ทว่าในนัดชิงปี 1972 นั้น คือช่วงเวลาที่พีก แปลกประหลาด และพลิกไปพลิกมาราวกับหนังชีวิต
เกมนี้ถูกเรียกว่า “การขโมยเกียรติยศ” โดยสื่ออเมริกา เพราะพวกเขาฉลองชัยชนะไปแล้ว แต่กรรมการกลับสั่งให้ไปแข่งใหม่ด้วยเวลาที่เหลือแค่ “3 วินาที”
และ 3 วินาทีนั้นทำให้พวกเขาเหรียญทองกระเด็นจากคอ เกิดอะไรขึ้นบ้าง ติดตามได้ที่นี่
ยอมกันไม่ได้
หากจะเอ่ยถึงการแข่งกันกีฬาใด ๆ ไม่ว่าจะรายการเล็ก หรือรายการใหญ่ หากเป็นการเจอกันระหว่าง สหภาพโซเวียต เจอกับ สหรัฐอเมริกา เมื่อนั้นมันจะหลุดกรอบของกีฬาไปโดยปริยาย เพราะนี่คือตัวแทนของ 2 ฟากโลก
Photo : ThoughtCo
โซเวียต เป็นตัวแทนของฝั่งคอมมิวนิสต์ พวกเขาคือคอมมิวนิสต์ตัวพ่อ ต่อต้านทุนนิยมอย่างสุดโต่ง ขณะที่ อเมริกา นั้นเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย, ทุนนิยม และเสรีนิยม
ทั้งสองประเทศมีเครือข่ายของตัวเอง และพวกเขาอยู่ในฐานะหัวหน้า ดังนั้นการเป็นคู่แข่งกันจึงชัดแบบที่สุด เวลาเจอกัน ไม่ว่าในกีฬาชนิดใด ไม่เคยมีใครอยากแพ้ เพราะการเอาชนะอีกฝ่ายนั้นเป็นเหมือนการประกาศกลาย ๆ ว่า “แนวคิดของพวกเราเหนือชั้นกว่า” นั่นเอง
เช่นนั้นเอง โอลิมปิก หรือกีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินั้น จึงเป็นเวทีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะถูกใช้เป็นสนามรบจำลองของทั้งสองชาติ ผ่านการชิงเหรียญทองในเกมการแข่งขัน ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ จนกระทั่ง ถึงการแข่งขันปี 1972 ที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมัน และในปีนั้นเอง ที่ทั้งสองชาติได้สร้างวีรกรรมระดับตำนานไว้ในการแข่งขันบาสเกตบอลชายนัดชิงชนะเลิศ
สหรัฐอเมริกามาพร้อมกับสถิติชนะรวดในโอลิมปิกมา 63 เกม หรือเรียกได้ว่านับตั้งแต่มีการแข่งขันกีฬาแม่นห่วงครั้งแรกในโอลิมปิกเมื่อปี 1936 อเมริกาได้แชมป์ตลอด
Photo : The Undefeat
ทุกคนรู้ สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าพ่อแห่งบาสเกตบอล … NBA คือการรวมตัวกันของเหล่าปีศาจเแห่งวงการ ดังนั้นถ้าอเมริกาจัดเต็มพิกัดขนดาวดังแห่งยุคอย่าง วิลท์ แชมเบอร์เลน หรือ คารีม อับดุล จาบาร์ มาด้วยแล้วล่ะก็ รับรองได้เลยว่าพวกเขาคงแบเบอร์เข้าป้ายคว้าเหรียญทองโดยไม่มีอะไรกั้นเป็นแน่แท้
อย่างไรก็ตาม ในการแข่งขันโอลิมปิกยุคนั้น มันมีกฎข้อหนึ่งที่ห้ามนักกีฬาระดับอาชีพลงแข่งขัน เพื่อไม่ต้องการให้เกิดระยะห่างระหว่างผู้เล่นสมัครเล่นกับผู้เล่นระดับโลก ซึ่งว่ากันว่ากฎข้อนี้เป็นกฎที่คณะกรรมการโอลิมปิกที่มาจากประเทศที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ลงมติให้ผ่านในที่ประชุม เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาได้รับความยิ่งใหญ่จากการแข่งขันนั่นเอง
เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบได้ แต่นั่นก็เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาต้องส่งเอากลุ่มผู้เล่นสมัครเล่น หรือเล่นในระดับมหาวิทยาลัยมาลงแข่งขัน ซึ่งจะว่าไป เรื่องฝีไม้ลายมือของเด็ก ๆ เหล่านี้ก็มีไม่น้อย เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าพวกเขาก็จะเข้าระบบดราฟต์สู่ NBA อยู่แล้ว ทว่าเรื่องของประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งการมีผู้นำในทีมต่างหากที่ส่งผลโดยตรงกับทีม
ในโอลิมปิกครั้งนั้น สหรัฐอเมริกา ใช้ตัวนำอย่าง ดั๊ก คอลลินส์ และ ทอม เบอร์เลสัน ที่ในภายหลังกลายเป็นผู้เล่นระดับทีมออลสตาร์ ของ NBA ทั้งสิ้น ดังนั้นต่อให้จะเป็นแค่ผู้เล่นจากทีมระดับมหาวิทยาลัย แต่แต้มต่อของสหรัฐก็ยังเหนือกว่าอยู่ดี ซึ่งผู้เล่นเหล่านั้นก็รู้อยู่แก่ใจตั้งแต่แรกว่า คู่ชิงของพวกเขาจะต้องเป็นโซเวียตอย่างแน่นอน
Photo : The Undefeat
“สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต คือ 2 มหาอำนาจจาก 2 ฝั่งของโลก ตอนนี้เราจะต้องมาสู้กันเพื่อครองความยิ่งใหญ่ในบาสเกตบอล … แต่ไม่ต้องห่วงหรอก พวกเราคือราชาตัวจริง และเราจะไม่ทำให้ชาวอเมริกันต้องผิดหวัง เราจะเป็นตัวแทนในการส่งข้อความนั้น (อเมริกาคือมหาอำนาจตัวจริง) เอง” ดั๊ก คอลลินส์ ว่าไว้
โอกาสดีกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
สำหรับ สหภาพโซเวียต พวกเขาเก็บงำความแค้นมาก็ไม่น้อย เพราะในอดีตมีถึง 4 ครั้งที่พวกเขาไปถึงรอบชิงชนะเลิศแล้วแต่ก็ต้องมาแพ้ให้กับ สหรัฐอเมริกา ทุกครั้งไป หนนี้พวกเขามีขุมกำลังที่เรียกว่าเป็นดรีมทีมตลอดกาลเลยก็ว่าได้ เพราะผู้เล่นระดับแถวหน้าของโลกอย่าง เซอร์เกย์ เบลอฟ, อเล็กซานเด เบลอฟ, โมเดนตาส พอลลาสคาส และ เกนนาดี โวลนอฟ ต่างก็อยู่ในช่วงที่ดีที่สุดในชีวิต และผู้เล่นในทีมชุดนั้นอีกหลายคนก็มีเชื้อชาติลิธัวเนีย ชาติที่มีบาสเกตบอลเป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 1 นั่นจึงทำให้พวกเขาคิดว่านี่คือโอกาสดีที่สุดในรอบหลายปี
เส้นทางสู่นัดชิงชนะเลิศของสหรัฐอเมริกานั้นไม่ต้องพูดถึง พวกเขาลุยเขามาถึงรอบชิงชนะเลิศแบบสบาย ๆ ขณะที่สหภาพโซเวียตเอง ปีนั้นก็เป็นปีที่มีเกมรุกร้อนแรง พวกเขาทำแต้มได้มากมาย โดยเฉพาะในเกมกับ เปอร์โตริโก ที่ชนะไป 100-87 แต้ม
Photo : EuroHoops
ดังนั้นจะมีอะไรเหมาะกับการมาเจอกันในนัดชิงชนะเลิศยิ่งกว่านี้ นี่คือช่วงเวลาที่อเมริกาจะสานต่อความยิ่งใหญ่ ขณะที่โซเวียตก็มั่นใจเรื่องศักยภาพในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และอเมริกาก็รู้ดีว่าการเจอกันครั้งนี้จะต่างไปจากที่เคยเจอ
“การต่อสู้กับพวกโซเวียตครั้งนี้จะเป็นอะไรที่พิเศษกว่าที่เคย พวกเขาเก๋าเกม และมีความเชี่ยวชาญในการคุมจังหวะเกมจากประสบการณ์ที่ล้นเหลือ” ไมค์ แบนทอม หนึ่งในสมาชิกของอเมริกาชุด 1972 ว่าไว้
เมื่อเกมมาถึง นี่คือศึกที่คนทั้งโลกเฝ้ารอ สื่อกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาชมเกมนั้นเต็มความจุ … โซเวียต เปิดเกมแบบเครื่องร้อนประมาณนึง พวกเขานำเด็กจากมหาวิทยาลัยชาวอเมริกันในช่วงพักครึ่ง 26-21 ซึ่งที่บอกว่าประมาณนึงเพราะ เหล่าหนุ่ม ๆ วัยหน้าเปื้อนสิวก็มีของ กับการรักษาช่องว่างที่ตามไว้ที่ระหว่าง 4-8 แต้มได้ตลอด
ด้วยความที่เป็นเกมที่ “แพ้ไม่ได้” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม โซเวียต เริ่มเล่นนอกเกม พวกเขาให้ มิเคอิล โครเคีย ยั่วยุตัวทำแต้มหลักของอเมริกาอย่าง ดไวท์ โจนส์ จนโดนไล่ออกจากสนามไปทั้งคู่ และจากนั้นไม่นานผู้เล่นของโซเวียตที่ชื่อว่า อิวาน ดวอร์นี ก็โดนไล่ออกหลังป่วนฝั่งตรงข้ามจากม้านั่งสำรอง และตามด้วยการที่ อเล็กซานเดอร์ เบลอฟ ทำฟาวล์หนักใส่ จิม บรูวเวอร์ส ของอเมริกาจนเจ็บหนักต้องออกจากเกมไปอีกราย
มันจะด้วยความตึงเครียดหรือเหตุใดไม่มีใครรู้ แต่การที่ โซเวียต ใช้ผู้เล่นมือบ๊วย ๆ ของตัวเองมายั่วผู้เล่นมือ 1 มือ 2 ของอเมริกาจนโดนไล่ออกนั้น ฝั่งที่ได้ประโยชน์ย่อมเป็นโซเวียตอย่างไม่ต้องสงสัย
Photo : EuroHoops
จากเหตุการณ์นั้นทำให้ โซเวียต ผงาดขึ้นมาในทันที พวกเขาไล่ทำแต้มด้วยความเหนือชั้นและเก๋าประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ จากอเมริกามีของมากกว่าที่คิด พวกเขาเริ่มใช้กลยุทธ์เข้าเพรส กดดันจนฝั่งโซเวียตเล่นพลาดเอง และค่อย ๆ ลดช่องว่างมาทีละนิดจนเกมออกมาสูสี
กระทั่ง 3 วินาทีสุดท้าย มีการฟาวล์เกิดขึ้น ผู้เล่นโซเวียตหัวเสียสุด ๆ จากการเสียลูกโทษให้กับอเมริกา 2 ลูก นั่นเท่ากับว่าหากมือสังหารของอเมริกาชู้ตลงทั้งหมด พวกจะขึ้นนำ 1 แต้ม ภายในระยะเวลาที่เหลือแค่ไม่ถึง 3 วินาที … เป็นอีกครั้งที่แม้จะสูสีแค่ไหน แต่ผลลงท้ายก็เหมือนเดิม สหรัฐอเมริกาคือเจ้าพ่อแห่งบาสเกตบอลตัวจริงเสียงจริง เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป … ยกเว้นเสียแต่ว่ามีอย่างที่ผิดแปลกไปเกิดขึ้น !
ฟื้นจากความตาย
หลังจากผู้เล่นของอเมริกาชู้ตจุดโทษลงทั้ง 2 ลูก ทำให้พวกเขาพลิกกลับมานำ 50-49 ฝ่ายโค้ชโซเวียตได้ไปโวยกับทางกรรมการข้างสนามว่า พวกเขาได้ขอเวลานอกหลังการยิงลูกโทษลูกแรก แต่ทำไมกรรมการจึงไม่ให้ เดิมทีกรรมการไม่ฟังเสียงนั้น จนกระทั่งมีการสั่งการมาจากโต๊ะคณะกรรมการที่ให้คะแนน …
Photo : ESPN
เกิดการสอบถามและวิเคราะห์หาข้อเท็จจริงในช่วงเวลาสั้น ๆ จากการสอบถามไปยังกรรมการในสนาม ปรากฏว่า ผู้ตัดสินได้ยืนยันว่า เขาไม่ได้ยินเสียงของเวลานอกหรือเห็นสัญญาณจากฝั่งโซเวียตแต่อย่างใด นั่นทำให้จังหวะดังกล่าวเกิดโต้แย้งกันในเวลาถัดมาว่า จริง ๆ แล้วฝ่ายโซเวียตขอเวลานอกจริงหรือไม่ ?
จากเวลาที่ควรจะหมด กลายเป็นการถกเรื่องราวกันยาวเหยียด สุดท้ายคณะกรรมการการแข่งขั้นทั้งหมด 5 เสียง ต้องลงมาหาข้อยุติเรื่องนี้ ในขณะที่ผู้เล่นอเมริกาเตรียมจะเฮกับเหรียญทองแล้วแท้ ๆ
คำวินิจฉัยในวันนั้นคือ คณะกรรมการเชื่อว่าโค้ชของโซเวียตได้ขอเวลานอกจริง เพราะโดยเทคนิคแล้ว นี่คือขั้นตอนที่เป็นพื้นฐานในการทำลายสมาธิ และเป็นจังหวะการหยุดเกมที่โค้ชคนไหนก็ทำกันทั้งนั้น คณะกรรมการที่โต๊ะให้คะแนนจึงลงมติว่าเป็นความผิดพลาดของฝ่ายจัดการแข่งขัน
บทสรุปก็คือพวกเขาต้องกลับมาแข่งกันด้วยเวลา 3 วินาที … ในขณะที่สกอร์นั้น อเมริกา นำอยู่ 50-49 และเป็นโอกาส 3 วินาทีให้ โซเวียต เริ่มเซ็ตเกมบุกเพื่อทำแต้มที่ต้องการอย่างน้อย 1 แต้มเพื่อต่อเวลาพิเศษ …
Photo : Dayton Daily
ทว่า โซเวียต ทำไม่ได้ ! ผู้เล่นอเมริกาเฮกันเป็นรอบที่ 2 พวกเขาคิดว่าจะจบแล้ว แต่สุดท้ายมันยังไม่จบ เพราะว่านาฬิกาสนามมีปัญหาในการตั้งเวลา ทำให้การเล่นเพลย์เมื่อสักครู่ของ โซเวียต นั้นเป็นโมฆะ
นี่คือคำตัดสินที่ทำให้โซเวียตเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ขณะที่ผู้เล่นอเมริกาหัวเสียสุดขีด มีการประท้วงกันอย่างจริงจัง พวกเขาแทบจะวอล์คเอาท์จากการแข่งขันแล้ว แต่ก็โดนขู่ว่าหากไม่ทำการแข่งขันให้จบ อเมริกา จะโดนตัดสิทธิ์ในการแข่งขันบาสเกตบอลในโอลิมปิกหลังจากนี้
“หลายคนบอกว่าทำไมพวกเราถึงไม่วอล์คเอาต์ล่ะ ? ผมบอกได้เลยว่า ตอนนั้นมีคนมาขู่เราแล้ว ถ้าเราไม่กลับไปเล่น เราจะต้องโดนทำโทษและริบความสำเร็จที่เคยมี ดังนั้นผู้เล่นของอเมริกาจึงต้องกลับไปยังสนามอีกครั้ง” คอลลินส์ ผู้เล่นของอเมริกาในวันนั้นกล่าว
Photo : Bleacher Report
สติของผู้เล่นอเมริกาแตกกระเจิง พวกเขาหลุดจากเกมไปเรียบร้อยแล้ว และนั่นทำให้ 3 วินาทีก็มากพอสำหรับโซเวียต อเล็กซานเดอร์ เบลอฟ จัดการทำสองแต้มสุดท้ายของเกม ให้ โซเวียต พลิกกลับมาชนะ 51-50 คะแนน
หนนี้ไม่มีรีเพลย์ซ้ำ ๆ มีแต่กลุ่มผู้เล่นโซเวียตที่วิ่งดีใจกันและปล่อยให้ผู้เล่นอเมริกันแทบคลั่งตาย พวกเขาประท้วงแล้วประท้วงอีกแต่มติของคณะกรรมการยังคงเป็นเช่นเดิม … 3 ใน 5 เป็นตัวแทนจากชาติคอมมิวนิสต์ แม้เราจะไม่มีทางรู้ว่ากรรมการแต่ละคนโหวตอะไร แต่ที่แน่ ๆ สหรัฐอเมริกา แพ้ด้วยคะแนนโหวต 2 ต่อ 3 เสียง โดยมีกรรมการ 3 คนบอกว่าการได้แชมป์ของ สหภาพโซเวียต ถูกต้อง 100%
“ถ้าเราชนะ ผมภูมิใจที่ได้เหรียยญทอง ถ้าเราแพ้ ผมก็ภูมิใจที่สู้เต็มที่และได้แค่เหรียญเงิน แต่นี่ไม่ใช่ เราไม่ได้แพ้เพราะเราไม่เอาไหน แต่เราแพ้เพราะเราโดนโกง” ไมค์ แบนทอม ผู้เล่นของทีมอเมริกาว่าไว้
Photo : The Guardian
“การแพ้ให้กับ โซเวียต ในเกมนั้นคือการทำลายความภาคภูมิใจของชาติ ไม่ว่ามันจะยุติธรรมหรือไม่ แต่เด็กหนุ่มที่อายุไม่เกิน 23 ปี ทั้ง 12 คนนี้ ได้กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง พวกเขากลายเป็นเครื่องมือสำหรับการประกาศความสำเร็จของโซเวียต คล้ายๆ กับการเป็นหนึ่งในผู้สร้างยานสปุตนิก 1 ชัดๆ” มาร์ค ไฮส์เลอร์ ผู้เล่นอีกคนของทีมกล่าวถึงเรื่องนี้ในภายหลัง
ไม่ต้องเถียงกันให้มากความ ทุกคนต่างรู้กันลึก ๆ ในใจว่า เกมการแข่งขันเมื่อปี 1972 มันไม่ปกติ หลายสิ่งดูผิดเพี้ยนไป และมันช่างเชิญชวนให้เชื่อว่าการเอาชนะในการแข่งขันครั้งนั้นของโซเวียต เปรียบดั่งส่วนหนึ่งของสงครามเย็น ที่พวกเขาตั้งใจจะเบ่งใส่อเมริกา …
ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวและมันอยู่กับผู้ตัดสินทั้ง 5 คน ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาคิดอะไรอยู่จึงมีมติลงคะแนนเช่นนั้น … แต่ที่แน่ ๆ อิวาน เอเดสช์โก ผู้เล่นของทีมโซเวียตในยุคนั้นเคยออกมาพูดในภายหลังว่า เขาไม่รู้สึกแปลกใจที่ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นทำให้เกิดความขุ่นเคืองกับอเมริกันทั้งประเทศ สิ่งที่ เอเดสช์โก กล่าวคือ มันก็แค่ความพ่ายแพ้ ที่พวกเขาไม่เคยอยากได้ มันเป็นสิ่งที่คนอเมริกันเกลียดที่สุด และไม่ต้องการแพ้ในการแข่งขันใด ๆ สักอย่าง …. ส่วนเรื่องที่ว่าโกงหรือไม่ เอเดสช์โก ก็ตอบในฐานะคนโซเวียตว่า
Photo : The Guardian
“ทีมอเมริกันย่อมรู้สึกโกรธเคืองและแค้นใจ ผมว่ามันไม่ถูกต้องนักหรอกที่จะยังโกรธกันแบบนั้น … เพราะนี่มันคือสงครามเย็น” เอเดสช์โก กล่าวผ่านสารคดีของ HBO ที่จัดทำขึ้นในปี 2002
“อเมริกันเป็นเช่นนี้เสมอมา พวกเขาเติบโตและมีความภาคภูมิใจในประเทศ พวกเขาไม่เคยคิดจะแพ้ ไม่อยากเป็นฝ่ายสูญเสียในเรื่องใด ๆ ก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งเรื่องบาสเกตบอล”
ส่วนผู้เล่นของสหรัฐอเมริกา ต่างก็เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากเย็นนัก กาลเวลาผ่านไปพวกเขาก็พอจะคาดเดาอะไรได้ ตอนที่พวกเขายังเป็นหนุ่ม พวกเขาเด็กและหัวอ่อนเกินกว่าจะเชื่อว่าจะมีใครกล้า “โกง” (ในมุมมองของชาวอเมริกัน) แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้น หรืออีก 30 ปี ต่อมา พวกเขาจึงได้เข้าใจว่า เพื่ออำนาจ และความยิ่งใหญ่นั้น สำหรับบางคน พวกเขายอมทำทุกอย่างโดยไม่อายและไม่เกรงกลัวต่อความผิดนั้น
พวกเขายอมทำทุกทางเพื่อเป็นผู้ชนะ ส่วนผู้แพ้นั้นจะไปพูดอะไรได้นอกเสียจากทำใจอยู่กับสิ่งเหล่านั้น หรือไม่ก็หาทางแก้แค้นให้ได้ในทางใดทางหนึ่ง เพราะที่สุดแล้วไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใด แต่ผู้ชนะเท่านั้นที่เป็นคนเขียนประวัติศาสตร์
Photo : The Guardian
“ผมเคยคิดนะว่าการแพ้นัดเดียวปล่อยให้เวลารักษาแผลใจสัก 2-3 ปีก็น่าจะหาย … แต่เชื่อเถอะสำหรับความผิดหวังบางเรื่อง มันจะอยู่กับคุณไปทั้งชีวิตนั้นแหละ” เคนนี่ เดวิส นักกีฬาบาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาว่าเช่นนั้น