เราอาจเคยเห็นนักกีฬาจากการแข่งขันพาราลิมปิก ได้พัฒนาความสามารถของตนเอง จนขึ้นไปทัดเทียมกับผู้เล่นทั่วไป และมีโอกาสได้เข้าร่วมพิสูจน์ฝีมือกับนักกีฬาระดับโอลิมปิกมาแล้ว
แต่ในเวลาเดียวกัน โชคชะตาก็ไม่ได้เป็นมิตรขนาดนั้น เพราะกับนักกีฬาปกติในระดับโอลิมปิก ก็อาจพบว่าชีวิตของตนต้องเปลี่ยนผันไปตลอดกาล ไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุ หรือสภาพโดยกำเนิดของร่างกาย ที่พร้อมจะพุ่งเข้ามาสู่ชีวิตได้โดยไม่ได้เลือกวันหรือเวลาอันเหมาะสมเลย
กับบางคน พวกเขาอาจยอมแพ้ให้กับโชคชะตา แต่บุคคลดังต่อไปนี้ คือผู้ที่ไม่ยอมแพ้ให้กับความไม่สมบูรณ์ทางร่างกาย และต่อสู้ทุกวิถีทาง เพื่อให้สามารถกลับมาลงเล่นในกีฬาที่ตัวเองรักได้อีกครั้ง
พาล แซคเคเรส (Pál Szekeres) – ฟันดาบ – ฮังการี
โอลิมปิก 1988 (1 ทองแดง) / พาราลิมปิก 1992-2012 (3 ทอง, 3 ทองแดง)
แซคเคเรส เข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในปี 1988 ในกีฬาฟันดาบชนิดฟอยล์ ทั้งแบบเดี่ยวและทีม ซึ่งเจ้าตัวสามารถคว้าเหรียญทองแดงมาได้ ในการแข่งขันประเภททีม หลังจากเอาชนะเยอรมนีตะวันออกได้ ในรอบชิงที่ 3 ด้วยคะแนน 9-5
อย่างไรก็ตาม ในปี 1991 แซคเคเรส ต้องมาประสบอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง จนต้องนั่งรถวีลแชร์ไปตลอดชีวิต และจำเป็นต้องผันตัวมาแข่งกีฬาฟันดาบในพาราลิมปิกแทน
ซึ่งนั่นทำให้เจ้าตัวคว้าเหรียญทองในกีฬาฟันดาบได้ถึง 3 เหรียญ ในปี 1992 และ 1996 รวมทั้งยังเก็บเหรียญทองแดงในการแข่งขันพาราลิมปิกปี 2000, 2004, และ 2008 มาได้อีกด้วย จนกลายเป็นนักกีฬาคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่คว้าเหรียญรางวัลได้ทั้งในโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกม
อัสซุนตา เลกนันเต (Assunta Legnante) – กรีฑา (ทุ่มน้ำหนัก) – อิตาลี
โอลิมปิก 2008 / พาราลิมปิก 2012-2020 (2 ทอง)
ชื่อของ เลกนันเต อาจไม่ได้เป็นที่คุ้นหูมากนัก แต่ผลงานของเธอนั้น ก็ดีพอที่จะได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกทั้งในปี 2004 และ 2008 ทว่าต้องมาพลาดการเดินทางไปร่วมแข่งที่ประเทศกรีซ เนื่องจากค่าความดันในลูกตาสูงเกินกว่าปกติ ก่อนจะทำผลงานจบในอันดับ 19 ที่ปักกิ่ง จนพลาดการเข้าไปเล่นรอบชิงเหรียญรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย
แต่ด้วยอาการต้อหินตั้งแต่กำเนิด ส่งผลให้สายตาด้านขวาของเธอค่อย ๆ แย่ลง จนสูญเสียการมองเห็นไปในปี 2009 ส่วนด้านตาซ้ายของเธอ ก็ประสบชะตากรรมที่ไม่ต่างกันมากนัก และแม้จะได้รับการรักษาแล้ว แต่ เลกนันเต ก็ทำได้แค่รับรู้แสงด้วยตาซ้ายเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ตาขวาของเธอนั้นบอดสนิท
นั่นจึงทำให้เธอผันตัวมาเข้าแข่งขันในพาราลิมปิกตั้งแต่ปี 2012 และคว้าเหรียญทองในรายการทุ่มน้ำหนักหญิง ประเภท F11 ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้พิการด้านการมองเห็น ได้ถึง 2 ครั้งด้วยกัน รวมทั้งยังเป็นเจ้าของสถิติโลกที่ระยะ 16.74 เมตรอีกด้วย ซึ่ง เลกนันเต ก็มีชื่อเข้าร่วมเดินทางมาป้องกันแชมป์ ในพาราลิมปิกที่โตเกียวด้วยเช่นกัน
เพโพ พุช (Pepo Puch) – ขี่ม้า – ฮังการี (โอลิมปิก) ออสเตรีย (พาราลิมปิก)
โอลิมปิก 2004 / พาราลิมปิก 2012-2020 (2 ทอง, 1 เงิน, 1 ทองแดง)
พุช เริ่มขี่ม้าตั้งแต่มีอายุได้ 15 ปี ก่อนจะพัฒนาฝีมือตัวเองขึ้นมา จนได้เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2004 ในประเภท Individual Eventing ซึ่งเป็นรายการเดียวกันกับที่ “ปูไข่” – พงศ์สิรี บรรลือวงศ์ นักขี่ม้าคนแรกในโอลิมปิกของไทย ได้เข้าร่วมการแข่งขัน
แต่ด้วยอุบัติเหตุระหว่างการขี่ม้าในปี 2008 ที่ทำให้เจ้าตัวเป็นอัมพาตในครึ่งล่างของร่างกาย พุช จึงตัดสินใจฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ด้วยการขึ้นขี่ม้าอีกครั้ง ในการแข่งขันพาราลิมปิก ที่เจ้าตัวเก็บเหรียญทองได้ทั้งเมื่อปี 2012 และ 2016 พร้อมกับเหรียญเงินและเหรียญทองแดงอีกอย่างละเหรียญ จากการลงแข่งประเภท Freestyle และ Individual
แม้จะมีอายุ 55 ปีแล้ว แต่ พุช ก็ยังผ่านการคัดเลือกมาป้องกันแชมป์ของเขา ในพาราลิมปิก 2020 ที่โตเกียวครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
อิลเคอ วีลุดดา (Ilke Wyludda) – กรีฑา (ขว้างจักร, ทุ่มน้ำหนัก) – เยอรมันตะวันออก, เยอรมนี
โอลิมปิก 1992-2000 (1 ทอง) / พาราลิมปิก 2012
วีลุดดา คือดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งยุค ตั้งแต่เมื่อครั้งลงเล่นให้ทีมชาติเยอรมันตะวันออก ด้วยการทำสถิติโลกในประเภทเยาวชน ก่อนที่จะทำลายสถิติของตัวเองได้มากถึง 11 ครั้งด้วยกัน ก่อนจะไต่เต้าขึ้นมาคว้าเหรียญทองขว้างจักรหญิงในโอลิมปิกปี 1996 ด้วยระยะทาง 69.66 เมตร
อย่างไรก็ตาม ขณะที่รักษาอาการบาดเจ็บในปี 1997 เธอได้ประสบปัญหาติดเชื้อในกระแสเลือด จนทำให้ต้องถูกตัดขาขวาไปในปี 2010 ก่อนที่ วีลุดดา จะกลับเข้าสู่การแข่งขันกีฬาอีกครั้ง ในรอบหนึ่งทศวรรษกว่า ๆ ด้วยการร่วมแข่งขันในพาราลิมปิกปี 2012 ที่ลอนดอน ก่อนจะจบด้วยอันดับ 9 ในประเภทขว้างจักร กับอันดับ 5 ในประเภททุ่มน้ำหนัก
น่าเสียดายที่อดีตเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกรายนี้ ไม่ได้มีโอกาสกลับมาลุ้นเหรียญรางวัลในพาราลิมปิกอีกเลย แต่อย่างน้อยในปีนั้น เธอได้รับเหรียญเงินในรายการชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2015 มาครอง เมื่อเจ้าของแชมป์โลกจากบัลแกเรีย ได้ถูกริบเหรียญไป จากการถูกตรวจพบสารกระตุ้นย้อนหลัง ซึ่งทำให้ วีลุดดา ได้เลื่อนจากอันดับ 3 ขึ้นเป็นที่ 2 แทน
ซานดรา เพาวิค (Sandra Paović) – เทเบิลเทนนิส – โครเอเชีย
โอลิมปิก 2008 / พาราลิมปิก 2016 (1 ทอง)
เพาวิค เริ่มเส้นทางการเป็นนักเทเบิลเทนนิส ด้วยการคว้าแชมป์รายการเยาวชนยุโรป ในวัยเพียง 14 ปีเท่านั้น ก่อนจะขึ้นมาติดทีมชาติโครเอเชีย ในชุดลุยศึกโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ทั้งในประเภทเดี่ยวและทีม ซึ่งแม้ว่าเธอจะไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้ (ที่ 1-3 ตกเป็นของจีนทั้งหมด) แต่ก็เพียงพอต่อการก้าวขึ้นมาติด 1 ใน 50 อันดับแรกของโลก
ทว่าโชคชะตาของเธอกลับต้องพลิกผันไปตลอดกาล เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2009 เพาวิค ประสบอุบัติเหตุรถชนขณะที่กำลังเดินทางไปสนามบินที่ปารีส จนทำให้เกิดปัญหากับกระดูกสันหลังของเธออย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อการก้าวเดิน และใช้งานขาของเธอในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม เพาวิค ก็ไม่ปล่อยให้อาการบาดเจ็บมาเป็นอุปสรรคต่อการก้าวเดินตามฝันของเธอ ด้วยการกลับมาเล่นเทเบิลเทนนิสอีกครั้งในปี 2013 และได้ก้าวขึ้นเป็นแชมป์โลกในคลาส C6 เมื่ิอปี 2014 และคว้าเหรียญทองพาราลิมปิกเกมที่ริโอ ในปี 2016 ด้วยการเอาชนะคู่แข่งจากเยอรมนีไปได้ 3-0 เกม
เพาวิค ขึ้นไปรั้งอันดับ 1 ของโลก หลังจากจบการแข่งขันที่ริโอ และไม่เคยหล่นลงมาต่ำกว่าอันดับ 2 เลยแม้แต่ครั้งเดียว นับตั้งแต่เข้าร่วมการแข่งขันสำหรับผู้บกพร่องทางร่างกาย ก่อนจะประกาศเลิกเล่นไปในปี 2017 ที่ผ่านมา
การเป็นนักกีฬาโอลิมปิกได้นั้น ก็เป็นสิ่งที่ยากและท้าทายมากพออยู่แล้ว แต่เมื่อต้องประสบปัญหาในชีวิต ที่มีผลกระทบกับทั้งร่างกายและจิตใจในระดับนี้ แต่ยังคงกลับมาลงแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างไปจากเดิม เป็นสิ่งที่น่านับถือและยกย่องมาก ๆ กับบรรดาผู้เล่นระดับโอลิมปิก ที่ต้องเปลี่ยนสถานะมาลงแข่งขันในพาราลิมปิกแทน จากโชคชะตาอันไม่เป็นใจ
แม้ร่างกายของพวกเขาอาจไม่เหมือนเดิม แต่จิตใจของพวกเขานั้น ยังคงเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นอันเอ่อล้น ที่จะถูกส่งต่อและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วทุกมุมโลก ให้ก้าวเดินต่อไปได้ แม้ในวันที่โลกอาจไม่เป็นใจกับพวกเขาก็ตาม