โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ Atopic Dermatitis มีอาการผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังและคันมาก มักขึ้นตามตัวหรือบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวและเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย แต่น้อยคนนักที่จะตระหนักและเข้าใจว่าอาการที่เกิดขึ้นหรืออาจไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้อยู่ จึงไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก่อให้เกิดอาการเรื้อรังได้
รศ. พญ.รัตนาวลัย นิติยารมย์ อาจารย์สาขาโรคผิวหนัง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงอุบัติการณ์ของโรคนี้ว่า โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคที่พบได้บ่อย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในโรคยอดนิยมของเด็กไทยในปัจจุบัน โดยอุบัติการณ์ของโรคนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุ ในเด็กไทยพบประมาณร้อยละ 9-17 ส่วนผู้ใหญ่พบประมาณร้อยละ 10-15 ส่วนใหญ่จะพบในวัยเด็กเล็กตั้งแต่ขวบปีแรก โดยร้อยละ 85 จะพบในเด็กช่วง 5 ขวบปีแรก
ลักษณะของผื่นแพ้ผิวหนัง
สำหรับลักษณะผื่นของโรคภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ป่วย มี 3 แบบ ได้แก่
- ระยะเฉียบพลัน คือ มีผื่นบวมแดงที่มีตุ่มน้ำขนาดเล็ก บางรายอาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา มีอาการคันมาก
- ระยะกึ่งเฉียบพลัน คือ ผื่นแดง ตุ่มน้ำ แห้งเป็นสะเก็ด มีขุยบ้าง มีอาการคันมาก
- ระยะเรื้อรัง คือ ผื่นจะมีสีไม่แดงมากหรือออกสีน้ำตาล อาจนูนหนา และเห็นร่องผิวหนังชัดเจน มีอาการคันมากผู้ป่วยภาวะเรื้อรังบางรายมีอาการคันรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตและครอบครัว ตลอดจนกระทบความมั่นใจและการเข้าสังคม ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าปกคลุมผิวหนังหลายๆ ส่วนของร่างกาย เนื่องจากความอาย จนนำไปสู่ผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เกิดความเครียด กังวล และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ในที่สุด
สาเหตุของโรคผื่นแพ้ผิวหนัง
รศ. พญ.ปภาพิต ตู้จินดา หัวหน้าสาขาวิชาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง และอิมมูโนวิทยา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคนี้ยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยภายในของคนไข้ที่เกิดความผิดปกติของผิวหนังร่วมกับการมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้ ได้แก่ การแพ้อาหาร โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหอบหืด และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ บุตรมีโอกาสที่จะเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ร้อยละ 38 แต่หากทั้งบิดาและมารดามีประวัติเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้ บุตรจะมีโอกาสในการเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 58 แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน
- มีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบ โดยคนไข้แต่ละรายจะมีปัจจัยที่กระตุ้นที่แตกต่างกัน ปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัด การติดเชื้อที่ผิวหนัง การแพ้อาหารบางชนิด เช่น ไข่ นมวัว หรือแป้งสาลี การแพ้สารเคมีบางชนิด การใส่เสื้อผ้าที่ระคายเคือง หรือสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เป็นต้น
อาการของโรคผื่นแพ้ผิวหนัง
อาการสำคัญของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอันดับแรก คือ
- มีอาการคัน
- ผิวแห้ง สาก เป็นขุย
- มีผื่นแดงอักเสบชัดเจนที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า
สำหรับเด็กที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะสังเกตได้จากตำแหน่งของผื่นที่จะเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน เช่น
- บริเวณแก้ม
- รอบริมฝีปาก
- บริเวณด้านนอกของแขน ขา ศอก เข่า มือ เท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อพับทั้งหลาย
- บางคนอาจจะมีผื่นในลักษณะเป็นปื้นที่บริเวณขา
- ผื่นคันบริเวณหนังศีรษะและรอบใบหู
- ในเด็กโตและในวัยผู้ใหญ่ก็จะพบผื่นในบริเวณข้อพับแขน ขา ซอกคอ มือ เท้า
- บางคนอาจจะมีอาการผิวแห้งแตกที่บริเวณเท้าทำให้เจ็บเวลาเดินได้
อย่างไรก็ตาม แม้โรคนี้จะมีอาการเรื้อรังและเป็นๆ หายๆ แต่ส่วนใหญ่เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการดีขึ้นตามวัยเมื่อเติบโตขึ้น การดูแลรักษาผิวที่ดี หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นให้อาการกำเริบ และการใช้ยาทาอย่างเหมาะสม จะทำให้คนไข้สามารถควบคุมอาการของโรคได้ดีจนสามารถหายจากโรคนี้ไปได้
การวินิจฉัยโรคผื่นแพ้ผิวหนัง
ผศ. นพ.เทอดพงศ์ เต็มภาคย์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการวินิจฉัยของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังว่า การวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาศัยลักษณะอาการแสดงทางคลินิกร่วมกับการซักประวัติและการตรวจร่างกาย โดยไม่ได้มีความจำเป็นต้องทำการทดสอบทางผิวหนังในผู้ป่วยทุกราย ควรพิจารณาตรวจเพิ่มเติมเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาตามมาตรฐานอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว แต่มีอาการรุนแรงมากขึ้น มีอาการแสดงเรื้อรัง หรือในกรณีที่มีประวัติว่ามีอาการกำเริบหลังได้รับสารก่อการแพ้ เช่น อาหาร หรือสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ มักพบผู้ป่วยที่มีการแพ้อาหารสัมพันธ์กับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในกลุ่มที่มีระดับความรุนแรงแบบปานกลางหรือมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการเจาะเลือดตรวจแอนติบอดีต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ การทดสอบการแพ้อาหาร หรือเลือกการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อหาปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้โรคกำเริบเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความสัมพันธ์ดังกล่าว
การรักษาโรคผื่นแพ้ผิวหนัง
แพทย์ทั้งสามท่านกล่าวว่า ในปัจจุบันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เมื่อโตขึ้นอาการจะดีขึ้น ส่วนใหญ่จะหายได้ และสามารถควบคุมการกำเริบของโรคได้ ดังนั้น เป้าหมายของการรักษาโรคนี้จึงอยู่ที่ การพยายามควบคุมอาการของโรคและให้อยู่ในช่วงสงบนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยแนวทางการรักษา ได้แก่
- การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ
- การทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง ป้องกันผิวแห้ง เช่น โลชั่น ครีมบำรุงผิว ควรทาหลังอาบน้ำทันที และไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น เฉพาะเมื่อมีการอักเสบที่ผิวหนังจึงใช้ยาทาลดการอักเสบ ทาบริเวณผื่นที่มีอาการเห่อแดงอักเสบ เมื่อควบคุมอาการได้ควรลดการใช้ยาหรือหยุดยาตามคำแนะนำของแพทย์
- ในรายที่มีผื่นขึ้นมากและอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
- ในปัจจุบันมีการรักษาโดยยาฉีดกลุ่มชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งความก้าวหน้าของแนวทางการรักษา โดยจะเลือกใช้ในรายที่มีอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่น ทั้งนี้ควรอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิด