สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เผยผู้ที่มีอาชีพที่มือต้องสัมผัสกับน้ำเป็นประจำ ผู้ที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ในวัยเด็ก เสี่ยงโรคผิวหนังที่มือ เหตุจากสารเคมีหรือสารที่ทำให้ระคายเคือง แนะวิธีดูแลและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคหรือกลับมาเป็นซ้ำ
โรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ คืออะไร?
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ เป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะวัยทำงาน เนื่องจากมือเป็นส่วนที่ต้องสัมผัสสารระคายเคืองได้บ่อย เช่น สบู่ ผงซักฟอก แชมพู หรือแม้แต่น้ำเปล่า ซึ่งจะทำให้หน้าที่การทำงานของเกราะป้องกันผิวลดลง ทำให้เกิดเป็นผื่น
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสารเคมีหรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองทำให้ผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง หรือหากผิวหนังสัมผัสสารเคมี เช่น น้ำหอม ยาง หรือหนัง ทำให้เกิดการแพ้ จะเป็นลักษณะของผื่นแพ้สัมผัส บางรายอาจเป็นทั้งจากการระคายเคืองและการแพ้ร่วมกัน
ทั้งนี้ระยะเวลาของการเกิดโรคอาจเป็นไม่นาน แต่ในบางรายอาจเป็นรุนแรงและนานหลายปี ทำให้มีผลต่อการทำงานและส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
กลุ่มเสี่ยงโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ
กลุ่มเสี่ยงโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ ได้แก่
- ผู้ที่มีประวัติเป็นผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ในวัยเด็ก
- ผู้ที่ทำงานโดยที่มือต้องสัมผัสน้ำบ่อยกว่า 10 ครั้งต่อวัน เช่น แม่บ้าน คนเลี้ยงเด็ก คนทำอาหาร ช่างเสริมสวย ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล คนงานก่อสร้าง เป็นต้น
อาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มือจะมีอาการดังนี้
- ผื่นแดง คัน แห้ง ขุย
- บางครั้งมีร่องแตก เจ็บ หรือมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ ที่ฝ่ามือ หรือด้านข้างนิ้วมือ
- บางรายอาจมีผื่นเฉพาะที่ เช่น บริเวณง่ามมือ กลางฝ่ามือ ปลายนิ้วมือ
- หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จะทำให้มี ตุ่มหนอง ผื่นบวมแดงเจ็บ มีน้ำเหลือง
การรักษาโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ
การรักษาส่วนใหญ่เป็นการควบคุมอาการ ไม่ได้ทำให้ผื่นหายขาด แต่หากผู้ป่วยทราบสาเหตุของการแพ้ หลีกเลี่ยงสารเคมีที่แพ้ได้อย่างถูกต้อง และเริ่มรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะทำให้โรคไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
วิธีป้องกันโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ
- การทาครีมที่ให้ความชุ่มชื้น ทำให้สารเคมีที่แพ้หรือระคายเคืองเข้าสู่ผิวหนังได้ยากขึ้น ควรทาบ่อยเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะเมื่อพบว่ามือเริ่มแห้งไม่ชุ่มชื้นและทุกครั้งหลังล้างมือ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีน้ำหอม ไม่ใส่สี ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้เกิดการแพ้ ระคายเคือง
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ ควรเลือกที่อ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของสบู่ที่จะทำให้มือแห้งระคายเคืองมากขึ้น อาจเลือกชนิดที่ผสมมอยซ์เจอร์ไรเซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
- ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ ผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาด มาใช้ทำความสะอาดมือ
- ไม่ควรล้างมือบ่อยเกินไป โดยไม่ควรเกิน 2-3 ครั้งต่อวัน
- ไม่ล้างมือด้วยน้ำอุ่นมากๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้งมากขึ้น
- หลังล้างมือซับมือให้แห้ง และทาผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นทุกครั้ง
- ควรสวมถุงมือเมื่อต้องทำงานสัมผัสกับน้ำ หรือสารระคายเคืองโดยเลือกใช้ถุงมือที่เหมาะสม ซึ่งไม่ควรใส่ถุงมือนานกว่า 20 นาที เพราะจะทำให้เกิดความอับชื้นหรือระคายเคืองได้
- หากต้องใส่เป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนถุงมือเมื่อรู้สึกว่าด้านในถุงมือเปียกชื้น และอาจใส่ถุงมือผ้าขาวไว้ข้างในถุงมืออีก 1 ชั้น เพื่อดูดซับเหงื่อ
- ควรทายาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ และรับการรักษาต่อไป