การประท้วงหน้าสนาม โอลด์ แทรฟฟอร์ด จากแฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เลยเถิดจนกลายเป็นการจราจลและเข้าไปป่วนถึงกลางสนามแข่งขัน ที่ทำให้ที่สุดแล้วเกมระหว่าง แมนฯ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล ต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด
หลังจากเหตุการณ์นั้นหลากหลายการวิจารณ์เกิดขึ้น บ้างก็ว่าแฟนบอลท้องถิ่นเป็นหัวหัวแข็ง ยึดติดอดีต และเห็นแก่ตัว จนทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทุกฝ่าย และอาจจะทำให้สโมสรโดนลงโทษอย่างร้ายแรงก็เป็นได้
แต่หากมองข้ามผลลัพธ์ไป คุณสงสัยไหมว่าทำไมพวกเขาจึงกล้าทำขนาดนั้น ?
และนี่คือเหตุผลของเรื่องทั้งหมด จุดเริ่มต้นที่ทำให้แฟนบอล แมนฯ ยูไนเต็ด เดินเป็นเส้นขนานกับเจ้าของสโมสร “ของพวกเขา” ในแบบที่ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ
ติดตามเรื่องราวตลอด 16 ปี ได้ที่นี่
2005 … จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง
ปี 2005 คือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์คู่ขนานที่ไม่มีวันบรรจบของแฟนบอล แมนฯ ยูไนเต็ด กับเจ้าของใหม่ชาวอเมริกันของพวกเขา “มัลคอล์ม เกลเซอร์”
ตระกูลเกลเซอร์ เป็นเจ้าของบริษัทอหสังหาริมทรัพย์ที่ชื่อว่า First Allied Corparation ก่อนจะขยับขยายเส้นทางธุรกิจมาประสบความสำเร็จในด้านบริหารทีมกีฬา พวกเขาเป็นเจ้าของทีม แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส ในอเมริกันฟุตบอล NFL ที่ทำให้แฟรนไชส์เติบโต คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ พร้อม ๆ กับสร้างกำไร เครดิตจากตรงนั้นเองที่ทำให้พวกเขามาพร้อมกับเงินก้อนใหญ่ มูลค่าเกือบ 800 ล้านปอนด์ เพื่อเข้าเทคโอเวอร์สโมสร หลังทยอยซื้อหุ้นสะสมจากผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ มาตั้งแต่ปี 2003 จนมีสัดส่วนมากพอเพื่อการนี้
แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งด้านธุรกิจอยู่แล้ว ดังนั้นหลังจากการเข้ามาบริหารของ มัลคอล์ม และตระกูลเกลเซอร์ (ลูก ๆ) ไม่ว่าสโมสรจะประสบความสำเร็จในสนามหรือไม่นั่นไม่สำคัญ เพราะในแง่การตลาด สโมสรแห่งนี้ทำเงินได้มากมายในแต่ละปี พวกเขาเป็นสโมสรที่มีมูลค่าระดับท็อป 3 ของโลกมาโดยตลอด ซึ่งผลลัพธ์ตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปัจจุบัน เว็บไซต์ Goal.com ยืนยันว่า ตระกูลเกลเซอร์ได้รับเงินปันผลจากทีมปีศาจแดงไปแล้วมากกว่า 1 พันล้านปอนด์ และนี่คือเส้นทางการทำเงินของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังการเทคโอเวอร์ของตระกูลเกลเซอร์แตกต่างกับที่มหาเศรษฐีคนอื่น ๆ เข้ามาซื้อสโมสรฟุตบอลในยุโรป เพราะอย่างกรณีของ โรมัน อบราโมวิช เจ้าของทีม เชลซี และ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน เจ้าของสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต่างก็ใช้ทรัพย์สินของตัวเองเพื่อเข้าเทคโอเวอร์ทีมที่ได้กล่าวมา ขณะที่ตระกูลเกลเซอร์นั้น ใช้เงินของตัวเอง 270 ล้านปอนด์ และอีก 520 ล้านปอนด์ที่เหลือ พวกเขาใช้การกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อเข้ามาซื้อสโมสรครั้งนั้น … แค่เริ่มเข้ามายังไม่ทันไรเขาก็สร้างหนี้ให้กับสโมสรเสียแล้ว นั่นคือสิ่งที่แฟน ๆ ยูไนเต็ด หลายคนคิด
ไม่ว่าเงินจะมาจากไหนไม่สำคัญ เมื่อสโมสรแห่งนี้เป็นของพวกเขาแล้ว หน้าที่ของพวกเขาคือการบริหารให้ได้กำไร และดังที่กล่าวไปข้างต้น พวกเขาได้เงินจากทีมไปมากกว่า 1,000 ล้านปอนด์ ก็แสดงให้เห็นว่าการลงทุนของพวกเขาประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
ในวงการธุรกิจมีศัพท์หนึ่งที่สามารถเอามาใช้กับเรื่องนี้ได้โดยแท้จริง นั่นคือคำว่า “Cash Cow” หรือที่เข้าใจง่าย ๆ คือ ตระกูลเกลเซอร์ เป็นเจ้าของวัว โดยมี ยูไนเต็ด เป็นแม่วัวนมพันธุ์ดีของพวกเขา ที่ไม่ว่าจะวันไหน ๆ วัวตัวนี้ก็จะให้นมแก่เจ้าของ ให้เจ้าของเอาไปใช้ประโยชน์ได้เสมอ … นมในที่นี้ = เงิน และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม ตระกูลเกลเซอร์จึงเห็นสโมสรแห่งนี้เป็น Cash Cow ของพวกเขา
การลงทุนก็ต้องหวังผลตอบแทนนั่นไม่แปลกอะไร แต่ไม่ใช่กับสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแฟนฟุตบอลท้องถิ่น พวกเขาไม่ชอบที่ใครสักคนจะเข้ามาหาประโยชน์จากทีมที่พวกเขา สโมสรที่อยู่กับสถานที่แห่งนี้มาหลายชั่วอายุคน และการที่ตระกูลเกลเซอร์ ชักกำไรของสโมสรเข้ากระเป๋า นั่นคือเรื่องที่ยอมกันไม่ได้
ความเกลียดชังสะสม
ขยายความอีกนิดในเรื่องของการหาเงินมาซื้อสโมสรของตระกูลเกลเซอร์ พวกเขากู้ยืมเงินเข้ามา โดยสิ่งที่ใช้ค้ำประกันก็คือทรัพย์สินของสโมสรภายหลังจากที่พวกเขาเป็นเจ้าของนั่นแหละ มีการระบุว่าจากจำนวนเงินกู้ 520 ล้านปอนด์ ตระกูลเกลเซอร์จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารปีละ 60 ล้านปอนด์ … พวกเขาจะเอาเงินจำนวนนั้นมาจากไหนล่ะ ? นอกจากผลประกอบการของสโมสรที่เติบโตขึ้นทุกวัน ๆ
พูดง่าย ๆ ก็คือสโมสรต้องหักเงินจากกำไรที่มีต่อปี ปีละ 60 ล้านปอนด์ เพื่อเอามาจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคาร ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้งบประมาณในการพัฒนาทีมน้อยลงตามไปด้วย และที่แปลกประหลาดสวนทางกับรายรับคือ แม้จะทำเงินได้มากมาย แต่ในปี 2012 หรือ 7 ปีหลังจากเปลี่ยนเจ้าของ แมนฯ ยูไนเต็ด ยังคงเป็นสโมสรที่มีหนี้กว่า 330 ล้านปอนด์ เปรียบเทียบเทียบกับ เรอัล มาดริด ทีมที่ทุ่มซื้อสตาร์ระดับโลกทุกปีแต่พวกเขาก็ยังมีหนี้แค่ 40 ล้านปอนด์เท่านั้น (อ้างอิงจากบทความของ Swiss Ramble)
แฟนบอลส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบนี้ ตระกูลเกลเซอร์กู้เงินมาซื้อ พวกเขาเป็นเจ้าของสโมสร แต่สโมสรต้องเป็นคนจ่ายดอกเบี้ยที่พวกเขาเป็นคนเริ่มเรื่อง ที่สำคัญ เงินต้นแทบไม่ลด ดูยังไงมันก็ไม่สมเหตุสมผลแม้แต่น้อย
ในขณะที่คู่แข่งร่วมเมืองอย่าง แมนฯ ซิตี้ ใช้เงินของเจ้าของสโมสรสร้างทีม 1 พันล้านปอนด์ แต่ฝั่งยูไนเต็ด ต้องเฉือนกำไรตัวเองให้กับเจ้าของสโมสร 1 พันล้านปอนด์ การเปรียบเทียบตรงนี้น่าจะทำให้เห็นภาพการบริหารที่ชัดขึ้น นั่นคือความไม่แฟร์ที่เกิดขึ้นในมุมมองของแฟน ๆ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
เรื่องดังกล่าวทำให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องมากมาย ทั้งการลงขันของแฟนบอลเพื่อซื้อสโมสรกลับคืนมาเมื่อปี 2010 ทว่าไม่ประสบผล รวมถึงการที่กลุ่มแฟนบอลของสโมสรบางกลุุ่ม ตัดสินใจหันหลังให้ประวัติศาสตร์อันยาวนานของทีม และไปก่อนตั้งสโมสรที่สร้างขึ้นโดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่าง เอฟซี ยูไนเต็ด ออฟ แมนเชสเตอร์ ในปี 2005 ซึ่งสโมสรแห่งนี้เป็นการร่วมหุ้นกันของอดีตแฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จำนวน 5,000 คน เริ่มต้นตั้งแต่ฐานล่างสุดของปีระมิด และมีเป้าหมายเพื่อขึ้นมาล้มล้างความยิ่งใหญ่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่มีเจ้าของชาวอเมริกันเป็นเจ้าของ
ไม่ว่าฝันของ เอฟซี ยูไนเต็ด ออฟ แมนเชสเตอร์ จะเป็นจริงหรือไม่ จะประสบความสำเร็จแค่ไหน นั่นไม่ใช่ประเด็น สิ่งสำคัญคือพวกเขาแสดงพลังแห่งการต่อต้านให้โลกได้รู้
แฟนบอลพวกนี้ไม่ได้ต้องการแชมป์ลีกสูงสุด แชมป์ยุโรป กลายเป็นมหาอำนาจฟุตบอล หรือแม้แต่กระทั่งกำไรก้อนโต … พวกเขาต้องการแค่สโมสรฟุตบอลที่เป็นของพวกเขาจริง ๆ สโมสรที่ยืนหยัดคู่ชุมชน และเป็นหนึ่งเดียวกัน ในวันที่สโมสรล้มลุกคลุกคลาน แฟนบอลเหล่านี้คือลมใต้ปีกที่ช่วยให้สโมสรยืนหยัดอยู่ได้ และในวันที่สโมสรใหญ่โตทำกำไรมากมาย แฟนบอลก็แค่ต้องการสโมสรที่พวกเขารักเป็นเหมือนเดิม ไม่ใช่ดังแล้วแยกวง ถีบหัวส่งเหมือนกับแฟนบอลที่เคยช่วยพยุงทีมเหล่านี้เหมือนกับก้อนหินข้างทาง
จุดนี่แหละที่สำคัญ หักกำไรของสโมสรไปเข้ากระเป๋าตัวเองแม้จะถือว่าทำความเจ็บแค้นให้แฟน ๆ แต่มันยังไม่เท่ากับอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด … สิ่งนั้นคือการไม่เห็นหัวแฟนบอล และมองว่าแรงสนับสนุนจากท้องถิ่นไร้ประโยชน์และด้อยค่าที่จะรับฟัง นั่นแหละคือสิ่งที่แฟน ๆ ท้องถิ่นรู้สึกเจ็บปวดจนถึงขั้น “พอกันที”
ระเบิดเวลาเดินมาจนครบกำหนด
จากปี 2005 เดินทางมาถึงปี 2020 ปีที่ทั้งโลกเผชิญหน้ากับวิกฤติ COVID-19 … โรคระบาดนี้ทำลายทุกอย่างอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้กระทั่งสโมสรฟุตบอล ไม่มีสโมสรใดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้
พรีเมียร์ ลีก หยุดการแข่งขันกลางทางจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ลุกลามไปทั่ว และเมื่อพวกเขาตัดสินใจจะกลับมาแข่งอีกครั้ง ก็เป็นการแข่งขันที่ห้ามแฟนบอลเข้าชมเกมในสนาม ซึ่งแน่นอนว่าสโมสรยังคงขาดรายได้จากยอดผู้ชมในแมตช์เดย์ รวมถึงธุรกิจร้านที่ระลึกและของฝากที่ทำเงินได้ไม่น้อยในวันที่มีการแข่งขัน
แทนที่ตระกูลเกลเซอร์จะใช้ช่วงเวลานี้ทำคะแนนความนิยมจากแฟน ๆ กลับมา แต่ไม่ … พวกเขายังคงเอาเงินสดออกจากสโมสรอย่างต่อเนื่องด้วยนโยบายการทำงานแบบเดิม ๆ แม้กระทั่งปีที่สโมสรมีรายรับน้อยที่สุดในรอบหลายปีก็ไม่เว้น หนี้ของสโมสรทะยานเพิ่มเป็น 455.5 ล้านปอนด์ แต่ตระกูลเกลเซอร์ยังได้รับเงินปันผลเช่นเคย
ความโกรธของแฟนบอลทะลักถึงขีดสุดโดยแท้จริง แฟน ๆ ของ ยูไนเต็ด พยายามต่อต้านเรื่องเหล่านี้มายาวนาน ไม่ใช่พวกเขาไม่พยายาม แต่ความพยายามในการส่งข้อความมันไปไม่ถึงหูของตระกูลเกลเซอร์ที่เป็นเจ้าของ หรือไม่พวกเขาก็อาจจะได้ยินแต่ทำเป็นหูทวนลม
“16 ปีที่ผ่านมา ไม่มีแฟนบอลคนไหนที่เคยได้พูดคุยกับตระกูลเกลซอร์เลย พวกเขามองข้ามชุมชนสัมพันธ์ไปโดยปริยาย ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่พวกเขาสนใจแต่เพียงผลกำไรของทีม ซึ่งก็ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น พวกเขาไม่เคยให้ความเคารพ และไม่เคยสนใจมุมมองจากแฟน ๆ อย่างเราเลยแม้แต่ครั้งเดียว”
“พวกเขาตัดขาดความสัมพันธ์ และไร้ซึ่งการมีส่วมร่วมกับท้องถิ่นโดยสิ้นเชิง เรื่องนี้มันยากที่จะให้อภัย พวกเราโดนตระกูลเกลเซอร์หัวเราะใส่หน้า เย้ยหยันกันมาเป็นระยะเวลายาวนานมาก ให้ตายเถอะ เราต้องการการเปลี่ยนแปลง ทีมของเราไม่ควรอยู่ในสภาพแบบนี้เลยจริง ๆ” เอียน สเตอร์ลิ่ง รองประธานกองเชียร์ แมนฯ ยูไนเต็ด กล่าว
ความอดทนของแฟน ๆ แมนฯ ยูไนเต็ด ลดน้อยถอยลงไปทุกวัน และสุดท้ายระเบิดเวลาก็เดินทางมาถึงกำหนด เดือนเมษายน 2021 สโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ซูเปอร์ ลีก ลีกฟุตบอลที่อัดแน่นไปด้วยสโมสรชั้นนำของยุโรปทั้งหมด 20 ทีม
แนวคิดนี้ทำให้ ฟีฟ่า, ยูฟ่า และ พรีเมียร์ ลีก ออกมาต่อต้านและประณามอย่างหนัก มีการยืนยันว่าหากสโมสรใดเป็นสมาชิกของ ซูเปอร์ ลีก พวกเขาจะต้องโดนทำโทษ โดยการต้องถูกขับออกจากลีกในประเทศไป … ซึ่งดูเหมือนว่าสโมสรสมาชิกที่เปิดเผยชื่อทั้ง 12 สโมสร (จาก 15 สโมสรก่อตั้ง) จะไม่แยแสเท่าไรนักในตอนแรก เพราะพวกเขาเชื่อว่า ซูเปอร์ ลีก จะทำเงินได้มากมายมหาศาล ในแบบที่ลีกในประเทศ หรือแม้แต่ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ให้พวกเขาไม่ได้ในยุคโรคระบาดเช่นนี้
อย่างที่ใครหลายคนรู้กัน บังเอิญว่าไม่ใช่แค่องค์กรใหญ่เท่านั้นที่ออกมาคัดค้าน แต่แรงผลักดันที่ต่อต้านเรื่องนี้มากที่สุดคือ “แฟนบอลท้องถิ่นของพวกเขาเอง” โดยเฉพาะสโมสรในอังกฤษนั้น แฟนบอลของทีมบิ๊ก 6 ที่เข้าร่วม (แมนฯ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล, แมนฯ ซิตี้, สเปอร์ส, เชลซี และ ลิเวอร์พูล) ได้ออกมาแสดงพลังครั้งใหญ่ จนที่สุดแล้วโปรเจกต์ดังกล่าวก็ต้องพับเก็บและยอมล้มเลิกไปโดยปริยาย
ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด เหตุการณ์นี้คือฟางเส้นสุดท้ายจริง ๆ การเฉือนกำไรของสโมสรไปใช้ประโยชน์ส่วนตน, การแสดงความโลภ รีดเลือดจากสโมสรในวันที่เกิดวิกฤติและประสบปัญหา ยังไม่เท่ากับการพรากเอาสโมสรที่ก่อตั้งขึ้นโดยท้องถิ่น ออกจากอ้อมอกไปโดยไม่มีการถามหาความเห็นแม้แต่คำเดียว … การต่อสู้ที่เข้มข้นที่สุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ตระกูลเกลเซอร์ก้าวเข้ามา และทำตัวเป็นศัตรูกับแฟนบอล ยูไนเต็ด เกิดขึ้นแล้ว ณ วันนี้
หมดเวลาทน
การถอนตัวออกจาก ซูเปอร์ ลีก ไม่ได้ช่วยให้ไฟแค้นของแฟนบอลท้องถิ่นลดลงจากเดิมเลยแม้แต่น้อย เพราะแถลงการณ์ของสโมสรหลังจากนั้น เหมือนกับการเดินไปตบหน้าใครสักคนเต็มฉาด และพูดไปส่ง ๆ ว่า “โทษที” อย่างไรอย่างนั้น
“เราขอปฏิเสธการเข้าร่วม ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก และพร้อมจะแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพื่อความท้าทายในระยะยาว” แถลงการณ์สโมสรว่าเช่นนั้น ซึ่งประโยคนี้ไม่มีคำว่าขอโทษแม้แต่คำเดียว และเช่นเดียวกันไม่มีการพูดถึงความเสียใจที่พวกเขากระทำต่อแฟนบอลท้องถิ่น ยิ่งเมื่อเทียบกับที่ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี เจ้าของทีม ลิเวอร์พูล คู่ปรับตลอดกาล ลงทุนอัดคลิปขอโทษด้วยตัวเองนั้น มันต่างกันเยอะ
แถลงการณ์แบบนี้เป็นเหมือนการสาดน้ำมันใส่กองไฟ แฟนบอลุกฮือยกระดับการต่อต้านตระกูลเกลเซอร์ ด้วยการรวมตัวกันประท้วงขับไล่อย่างเผ็ดร้อน พวกเขาต้องการให้ตระกูลเกลเซอร์รับผิดชอบ ซึ่งว่าให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือขายทีมไปซะ แต่สุดท้ายคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือ เอ็ด วูดเวิร์ด หนึ่งในซีอีโอ ที่ถือเป็นคนสนิทของตระกูลเกลเซอร์ ซึ่งแม้จะเป็นข่าวดีที่แฟนท้องถิ่นรอคอย จากการที่ “ลอร์ดเอ็ด” เองก็เน้นในเรื่องการหาเงิน มากกว่านักเตะระดับท็อปสตาร์เข้าสโมสร แต่นั้นยังไม่มากพอเท่าที่พวกเขาต้องการ
กว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว โจเอล เกลเซอร์ หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงแฟนบอล โดยเนื้อความนั้นยืดยาวและชวนให้เสียเวลาอ่านเปล่า ๆ เพราะตอนนี้แฟนบอล ยูไนเต็ด ไม่มีพื้นที่ว่างรับฟังสิ่งใดจากผู้บริหารชาวอเมริกันอีกต่อไปแล้ว หนำซ้ำยังมีซ้ำดาบสองอีกเมื่อ หลังจาก อัฟราม เกลเซอร์ หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของทีมโดนถามว่าคิดอย่างไรกับแฟนบอลที่ต่อต้านการเข้าร่วมซูเปอร์ลีก และจะขอโทษแฟนบอลหรือไม่ คำตอบของเขาคือ “ไม่มีอะไรจะพูด”
นั่นคือที่มาของการประท้วงที่ต่อเนื่อง ที่สุดแล้วก็ลุกลามเป็นการเข้าไปประท้วงกลางสนาม โอลด์ แทรฟฟอร์ด ก่อนเกม “แดงเดือด” กับ ลิเวอร์พูล จนการแข่งขันต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
สำหรับใครหลายคนอาจจะมองแฟนบอลท้องถิ่นเหล่านั้นว่าเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ ค้านชนฝาจนทำให้สโมสรเสียหาย เพราะไม่รู้จะได้รับการลงโทษอะไรบ้าง แต่สำหรับแฟนท้องถิ่น ที่พวกเขาทำเช่นนี้ก็เพราะมันหมดทางเลือกแล้ว ในเมื่อเสียงของพวกเขาไม่เคยดังไปถึงเบื้องบนเลยตลอด 16 ปีที่ผ่านมา
“ความเปลี่ยนแปลงกำลังมาถึง เราจะรักษาการประท้วงของเราอย่างเต็มเหนี่ยว เราจะทำให้ทุกฝ่ายหันมามองเห็นปัญหานี้และปฏิรูปมันซะ มันไม่ใช่แค่เรื่องกระแส เกลเซอร์ เอาท์ แต่มันเกี่ยวกับการรักษาอนาคตของสโมสร และการกลับมาให้ความสำคัญของแฟนบอลอีกครั้ง”
“คำขอโทษจากพวกเขาจะไม่มีผลอะไรต่อความรู้สึกของพวกเราอีกแล้ว ทุกคนได้รู้ความจริงว่าแรงจูงใจของตระกูลเกลเซอร์ที่มีต่อสโมสรแห่งนี้คือ ‘กำไร’ เท่านั้น พูดไปสองไพเบี้ย เพราะการกระทำของพวกเขามันตอบทุกอย่างไว้อย่างชัดเจนชนิดที่มองจากดาวอังคารก็รู้ถึงเจตนา” รองประธานแฟนบอลยูไนเต็ด กล่าวหลังการประท้วงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่าน
หลังจากการประท้วงจบลง แฟนบอลกลุ่มที่ชื่อว่า Manchester United Supporters’ Trust ได้ส่งจดหมายปิดผนึกถึง โจเอล เกลเซอร์ ภายในประกอบด้วยเนื้อความโดยย่อว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่มีแฟนบอลของเราคนไหนสักคนที่ต้องการให้มันเกิดขึ้น แต่จงรับรู้เลยว่าที่คือจุดสุดยอดของความอดทนตลอด 16 ปีที่ครอบครัวของคุณเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสร”
“เราเป็นหนี้ … ตกต่ำ และแฟนบอลถูกกีดกันเพิกเฉยออกห่างจากสโมสรไปทุกที ไม่มีสมาชิกตระกูลเกลเซอร์คนใดเลยที่มาพูดคุยกับเราอย่างจริงใจ”
นอกจากนี้แฟนบอลยังทิ้งท้ายถึงข้อเรียกร้อง 4 ข้อที่ต้องการให้ โจเอล เกลเซอร์ ปฎิบัติตาม อาทิ เปิดโอกาสให้แฟนบอลได้เข้าถึงการบริหารของเจ้าของทีม, การแต่งตั้งใครสักคนที่จะมาปกป้องผลประโยชน์ของสโมสร, การให้ความสำคัญกับแฟนบอล เป็นต้น ซึ่งแต่ละข้อก็ชัดเจนว่าแฟนบอลต้องการสโมสรของพวกเขากลับคืนมา สโมสรแห่งนี้ไม่ใช่ Cash Cow ของใคร หากแต่สโมสรแห่งนี้ยิ่งใหญ่กว่าศาสนา, การเมือง หรือแม้กระทั่งลมหายใจของพวกเขา
“พวกเราโดนตระกูลเกลเซอร์ หัวเราะใส่หน้า เย้ยหยันกันมาเป็นระยะเวลาถึง 16 ปี ตอนนี้ถึงเวลาที่สายลมจะเปลี่ยนทิศแล้ว” ประโยคดังกล่าวคือที่มีของความเกลียดชังและตอบคำถามได้ชัดเจนที่สุดว่า “ทำไมแฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงเกลียดตระกูลเกลเซอร์นัก” … เรื่องทั้งหมดมันก็เป็นดังที่กล่าวมานี้ นี่เอง
ย้ำกันอีกสักครั้งก่อนปิดท้ายบทความ บทความนี้เกิดจากการนำเอามุมมองของแฟน ๆ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เข้ามาวิเคราะห์เพื่อหาเหตุผลถึงความเกลียดชังที่พวกเขาพร้อมเป็นเส้นขนานกับเจ้าของสโมสร มิใช่การฟันธงว่าใครเป็นคนผิดหรือคนไหนเลวกว่ากัน ดังนั้นอยากให้ทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ด้วยความเคารพถึงผู้อ่านทุกคน