กรมอนามัย ห่วงกินเจเจอผักปนเปื้อนสารเคมี ย้ำเลี่ยงผักนอกฤดูกาล เสี่ยงมีสารเคมีมากกว่า เผย 10 ผักสดยังคงพบสารเคมีปนเปื้อนสูง แนะล้างผักให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินและปรุง
กินเจ กินผัก เสี่ยงสารเคมีตกค้างในผัก
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงช่วงเทศกาลกินเจที่มีผักเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ว่าช่วงเทศกาลกินเจนี้ มีการจำหน่ายอาหารเจที่ปรุงจากผักเป็นจำนวนมาก จึงต้องเฝ้าระวังความสะอาดปลอดภัยของสารเคมีในผักให้มากขึ้น
วิธีเลี่ยงผักที่มีสารเคมีตกค้างสูง
สำหรับผู้บริโภคที่ปรุงอาหารเจกินเองในครอบครัว ช่วงนี้ไม่ควรกินผักนอกฤดูกาล เนื่องจากมีแนวโน้มของการใช้สารเคมีมากกว่าผักตามฤดูกาล ก่อให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างและเป็นอันตรายมาก เมื่อได้รับสารนี้ในปริมาณมากจะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด ท้องร่วง อาจเกิดหัวใจวายและเสียชีวิตได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อย ๆ ค่อย ๆ สะสมในร่างกายจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งในระยะยาว
ผักสดที่พบสารเคมีตกค้างสูง
ผักสด 10 ชนิด ที่จำหน่ายในท้องตลาด พบว่า มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่สูง ได้แก่
- กวางตุ้ง
- คะน้า
- ถั่วฝักยาว
- พริก
- แตงกวา
- กะหล่ำปลี
- ผักกาดขาวปลี
- ผักบุ้งจีน
- มะเขือ
- ผักชี
วิธีลดประมาณสารเคมีตกค้างในผัก
ก่อนกินหรือนำผักมาปรุงอาหาร ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ให้ล้างผ่านน้ำก๊อกที่ไหลนาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมเกลืออัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูอัตราส่วนครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิงโซดา) อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10-15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่า 2 ครั้ง สำหรับผักบางชนิดเช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านอย่างน้อย 2 นาที เพื่อความปลอดภัยและลดการปนเปื้อนของสารเคมี