ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์ ถึงรายชื่อผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ โควตาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ซึ่งพบว่าในจำนวน 144 ราย ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ มีรายชื่อของภรรยา ผอ.โรงพยาบาล ที่ทำงานอยู่ในคลินิกเอกชน และสามีของหัวหน้ากลุ่มเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งเปิดร้านขายยารวมอยู่ด้วย จนมีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่า ไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เหตุใดจึงได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงถึงกรณีที่เกิดขึ้น
ล่าสุด วันนี้ (22 สิงหาคม 2564) ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะ ประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าว ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ตนเองได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริง และส่งเรื่องไปให้ นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจารณาแล้ว ซึ่งผลการพิจารณาโทษจะออกมาเช่นไร ก็อยู่ที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ จะพิจารณา
ถึงอย่างไรก็ตามขณะนี้ก็ยังให้ ผอ.โรงพยาบาลดังกล่าว ปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม เนื่องจากช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นนี้ บุคลากรทางการแพทย์มีน้อย จำเป็นต้องให้ทำงานมีความต่อเนื่อง และโทษอาจจะไม่ถึงกับปลดออกจากตำแหน่ง เพราะในหนังสือสั่งการให้สำรวจบุคลากรที่จะได้รับการฉีดวัคซีนนั้น ให้สำรวจบุคลากรทางการแพทย์ครอบคลุมถึงบุคลากรที่อยู่ในคลินิกเอกชนด้วย เพียงแต่วัคซีนไฟเซอร์ในล็อตแรก ทางสาธารณสุขจังหวัดฯ ได้เน้นย้ำว่าจะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อนเป็นลำดับแรก
ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในคลินิกเอกชน จะได้รับการฉีดในล็อตถัดไป จึงอาจจะไม่เข้าข่ายผิดถึงคดีอาญา เพียงแต่ว่าในกรณีนี้ ผอ.โรงพยาบาลดังกล่าว และหัวหน้ากลุ่มเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค นำไปฉีดให้กับคู่สามี ภรรยาของตัวเอง ทำให้เกิดความไม่เหมาะสม และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งการของสาธารณสุขจังหวัด ที่เน้นย้ำว่าจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อน ซึ่งขณะนี้ก็ต้องรอทาง สสจ.พิจารณาความผิดทางวินัยอีกครั้ง