ผอ.ทอ. สั่งสนับสนุน อากาศยาน ดับไฟป่า สำรวจจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือ

Home » ผอ.ทอ. สั่งสนับสนุน อากาศยาน ดับไฟป่า สำรวจจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือ



โฆษกกองทัพอากาศ เผย พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผอ.ทอ. สั่งสนับสนุน อากาศยาน ดับไฟป่า บินสำรวจจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือ

วันที่ 19 เม.ย.2565 พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า ในห้วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของทุกปี ภาคเหนือของไทยมักจะประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมีสถิติพบจุดความร้อนในพื้นที่ป่ามากกว่าปกติ จึงได้มีการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการปฏิบัติภารกิจดับไฟป่า เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าและคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับการปฏิบัติของกองทัพอากาศในปีนี้ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ จัดอากาศยานพร้อมกำลังพลของกองทัพอากาศ เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบินดับไฟป่าและบินสำรวจจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ตามที่กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ร้องขอ

ทั้งนี้ กองทัพกาศได้จัดอากาศยาน พร้อมด้วยชุดอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่สำหรับปฏิบัติภารกิจ ได้แก่
เครื่องบินไร้คนขับตรวจการณ์และฝึกแบบที่ 1 (UAV แบบ RTAF U1) ฝูงบิน 301 กองบิน 3, เครื่องบินตรวจการณ์และฝึก แบบที่ 20 (DA-42 MNG) ฝูงบิน 402 กองบิน 4, เฮลิคอปเตอร์แบบที่ 11 (EC-725) หน่วยบิน 2033 ฝูงบิน 203 กองบิน 2 ศูนย์สนับสนุนทางอากาศโดยตรงที่ 3 (ศสอต.3) ชุดเจ้าหน้าที่ควบคุมทางอากาศยุทธวิธี, เจ้าหน้าที่แปลความภาพถ่ายทางอากาศ, เจ้าหน้าที่สนับสนุนอื่นๆ

โดยวางกำลัง ที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15 มี.ค.-30 เม.ย. 2565 หรือจนกว่าสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันจะคลี่คลาย สำหรับการปฏิบัติดังกล่าว กองทัพอากาศใช้ระบบเครือข่ายเป็นศูนย์กลาง โดยใช้ระบบตรวจจับ (Sensor) จากอากาศยาน เพื่อค้นหาจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นแหล่งกำเนิดไฟป่า

โดยทำการบูรณาการสัญญาณภาพจากระบบตรวจจับทุกส่วน รวบรวมส่งให้ส่วนบัญชาการซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ผู้บัญชาการสถานการณ์และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ทราบถึงพิกัด และเข้าควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ

โดยบูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และพลเรือนอาสา ในการเข้าดับไฟหรือสกัดการลุกลามของไฟป่า ส่งผลให้สามารถควบคุมจุดความร้อนที่เกิดขึ้นได้ ป้องกันการเกิดไฟไหม้ป่าขนาดใหญ่ และลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมของเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก หรือ BT-67 ฝูงบิน461 กองบิน 46 ในการเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบินดับไฟป่าหากได้รับการร้องขอเพิ่มเติมอีกด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ