ผลสำรวจ ความคิดเห็นของแฟนกีฬาชาวไทย ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับกีฬาแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย โดยความหวังสูงสุดคือการครองเจ้าซีเกมส์
ผลสำรวจ – สืบเนื่องจากปี 2565 ถือได้ว่าเป็นอีกปีที่วงการกีฬาไทยจะต้องมีการเตรียมการยกระดับการพัฒนา ตลอดจนจัดส่งทัพนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ภายใต้ปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลากหลายรายการ
เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีต่อวงการกีฬาไทยในมิติของความหวังและโอกาสสำหรับการพัฒนาและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ KBU SPORT POLLโดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง “ความหวังและโอกาสของวงการกีฬาไทยในปี 65”
- ชบาแก้ว ผลตรวจโควิดเป็นลบพร้อมดวลสาวฟิลิปปินส์ ล่าตั๋วบอลโลก
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2565 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,166 คนโดยแบ่งเป็นเพศชาย 604 คนคิดเป็นร้อยละ 51.80 เพศหญิง 562 คนคิดเป็นร้อยละ 48.20
ผลการวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า ความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาและยกระดับการกีฬาของประเทศ ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.09 ต้องการให้รัฐบาลยกระดับการขับเคลื่อนการพัฒนากีฬาเป็นวาระแห่งชาติ รองลงมาร้อยละ 27.13 รัฐบาลสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
ร้อยละ 23.05 ประชาชนทุกภาคส่วนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเล่นกีฬาและออกกำลังกายมากขึ้น ร้อยละ 13.64 องค์กรกีฬาขับเคลื่อนแผนพัฒนาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ร้อยละ 3.58 สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนดแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบ และอื่นๆร้อยละ 1.51
ความคาดหวังที่มีต่อนักกีฬาไทยสำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ ส่วนใหญ่ร้อยละ 28.52 นักกีฬาสามารถครองความเป็นเจ้าเหรียญทอง กีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม รองลงมาร้อยละ 25.98 นักกีฬาสามารถคว้าเหรียญทองติด 1 ใน 5 ในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่ประเทจีน
ร้อยละ17.07 องค์กรที่เกี่ยวข้องมีการวางแผนและสนับสนุนการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ ร้อยละ 15.79 นักกีฬาชนิดต่างๆ สามารถสร้างชื่อเสียงและนำความสุขสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 8.66 ทัพช้างศึกประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ และอื่นๆ ร้อยละ 3.98
ชนิดกีฬาที่เป็นความหวัง และมีโอกาสในการสร้างชื่อเสียงสำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ อันดับ 1 แบดมินตันร้อยละ 89.04 อันดับ 2 เทควันโด ร้อยละ 86.26 อันดับ 3 วอลเลย์บอล ร้อยละ 81.00 อันดับ 4 มวยสากล ร้อยละ 78.06
อันดับ 5 ยกน้ำหนัก ร้อยละ74.00 อันดับ 6 ฟุตบอล/ฟุตซอล ร้อยละ 72.08 อันดับ 7 กอล์ฟ ร้อยละ 69.22 อันดับ 8 เซปักตะกร้อ ร้อยละ 66.00 อันดับ 9 จักรยาน ร้อยละ 62.48 อันดับ 10 เทนนิส ร้อยละ 54.00 และอื่นๆ ร้อยละ18.10
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผอ.ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้สังคมและประเทศยังจะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กลุ่มตัวอย่างยังให้ความสำคัญสำหรับการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนา และยกระดับกีฬาของประเทศให้มีความเจริญรุดหน้าเทียบเคียงกับนานาประเทศที่ประสบความสำเร็จ
ที่น่าสนจะเห็นได้ว่าจะเห็นว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะฝากความหวัง และโอกาสในการพัฒนาและนำมาซึ่งความสำเร็จไว้ที่รัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายและแผนพัฒนาให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งผลักดันการขับเคลื่อนกีฬาให้เป็นวาระแห่งชาติ
ขณะเดียวกันเมื่อกล่าวถึงความหวังหรือโอกาสของความสำเร็จ และนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศของทัพนักกีฬาไทยจากการเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติในปี 2565 จะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างต่างคาดหวังที่จะให้นักกีฬาคว้าเหรียญรางวัล และนำความสุขมาสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะความเป็นเลิศในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 31 และเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 และเหนือสิ่งอื่นใดหากพิจารณาถึงชนิดกีฬาแห่งความหวังพบว่าล้วนแล้วแต่เป็นชนิดกีฬาที่นักกีฬาไทยประสบความสำเร็จ และสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในเชิงประจักษ์อย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจในครั้งนี้คงจะเป็นหนึ่งในมิติที่ผู้เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาไทย จะได้นำไปเป็นกรณีศึกษาหรือฐานข้อมูลสำหรับการขับเคลื่อน และยกระดับให้วงการกีฬาไทยประสบความสำเร็จ และก้าวไกลสู่มาตรสากลสืบไป และประเด็นเฉพาะหน้าที่สำคัญคือการประสานในการเร่งดำเนินการปลดล็อคการแบนของวาดาในมิติที่เกี่ยวข้อง และก่อให้เกิดความเสียหายกับวงการกีฬาไทย