ผบ.ตร.สั่งตำรวจทั่วประเทศกวดขันจับกุมการกระทำผิดของรถบรรทุก ห้ามเรียกรับส่วยสติ๊กเกอร์
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามในบันทึกข้อความที่ 0007.34/2122 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เรื่องให้บังคับใช้กฎหมาย กวดขัน และจับกุมการกระทำผิดของรถบรรทุก ถึงรองผบ.ตร. จตช. หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้ช่วย ผบ.ตร. หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า เพื่อทราบ ผบช.น. ภ.1-9 ก. จตร.(หน.จต.) สทส. และ สยศ.ตร. ใจความว่า
ตามที่มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอย่างแพร่หลาย กรณีที่ผู้ประกอบการรถบรรทุก ขนส่งสินค้ากระทำความผิดกฎหมาย โดยบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักบรรทุกที่กฎหมายกำหนดและใช้สติ๊กเกอร์ รูปต่างๆ ติดหน้ารถบรรทุกเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าได้จ่ายผลประโยชน์ในรูปแบบ “ส่วยสติ๊กเกอร์” ให้กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อมิให้ถูกจับกุม นั้น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในเรื่องดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันอุบัติเหตุและป้องกันสภาพถนนเสียหาย ตลอดจนเพื่อสร้าง ความเชื่อมั่นแก่ประชาชน จึงให้ดำเนินการ ดังนี้
1.ให้บังคับใช้กฎหมายเพื่อมุ่งเน้นการป้องกันอุบัติเหตุและผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน โดยตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร จับกุมการกระทำผิดของรถบรรทุกในข้อหาบรรทุกน้ำหนักเกินกว่า ที่กฎหมายกำหนด เดินรถบรรทุกในเวลาห้าม นำรถที่เครื่องยนต์ก่อให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี หรือเสียง เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดมาใช้ในทางเดินรถ รวมทั้งการกระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องอันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ การเกิดอุบัติเหตุโดยเคร่งครัด
2.การตั้งจุดตรวจให้ถือปฏิบัติตามหนังสือ ตร. ที่ 0007.34/681 ลง 3 มี.ค. 64 เรื่อง มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกและความผิดอื่น ที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง และหนังสือ ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0007.22/438 ลง 2 ก.พ. 66 เรื่อง กำชับ การปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด โดยเคร่งครัด
3.ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียก รับ หรือยอมรับผลประโยชน์โดยมิชอบ จากผู้ประกอบการ รถบรรทุกหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อละเว้นไม่ดำเนินการจับกุม โดยเฉพาะรถบรรทุกที่ใช้สติ๊กเกอร์ติดหน้ารถ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าได้มีการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่ตามที่เป็นข่าว และ ห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือหรือสนับสนุน กับการเรียกรับผลประโยชน์ และการกระทําความผิดในกรณีดังกล่าว
4.ให้บูรณาการความร่วมมือกับ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายตามข้อ 1 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5.ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อไม่ให้เกิดข้อบกพร่อง โดยสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้มีการทุจริตจากการปฏิบัติหน้าที่หรือเรียกรับ ผลประโยชน์ในรูปแบบส่วยสติ๊กเกอร์หรือรูปแบบอื่นๆ โดยเด็ดขาด และกำชับให้ถือปฏิบัติตามคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537 ลง 1 ต.ค.37 อย่างเคร่งครัด หากพบข้อบกพร่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการตาม อำนาจหน้าที่ทั้งทางอาญา ทางวินัยและทางปกครองตามควรแก่กรณี พร้อมทั้งรายงานผลให้ ตร. ทราบโดยเร็ว
6.กรณีที่มีการร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ของ จต. (www.jcoms.police.go.th) และสายด่วน 1599 ของ ตร. ให้ จต. ติดตามผลการตรวจสอบและแจ้งผู้ร้องเรียนทราบ 7.ให้รายงานผลการปฏิบัติตามแบบฟอร์มที่แนบ ส่งให้ ตร. ทั้งนี้ให้ สทส. รวบรวมผลการปฏิบัติจาก ระบบ Crimes และ PTM ของแต่ละหน่วยให้ สยศ.ตร.(ผอ.) ทราบอีกส่วนหนึ่งด้วยโดยให้ สยศ.ตร. (ผค.) สรุปผลการปฏิบัติรายงาน ตร.ทุกเดือนภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป เพื่อทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด