สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ลงมติแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ ในคดีที่เกี่ยวกับการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบิน ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) อีก 1 คดี
โดยคดีนี้ นายทักษิณ ถูกกล่าวหาพร้อมพวก รวม 5 ราย ในประเด็นสำคัญเรื่องการอนุมัติการสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ เมื่อปี 2545-2547 และปี 2554 อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 75 ลำ ไม่คุ้มค่า ทำให้การบินไทยมีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้น
ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ มีการแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ นายทักษิณ และพวกในคดีนี้จริง แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดอะไรได้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมว่า จำนวนผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ 5 ราย นอกจาก นายทักษิณ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วยังมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม นายทนง พิทยะ อดีตประธานกรรมการบริษัทการบินไทย นายกนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย รวมอยู่ด้วย
ขณะที่ นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา ว่า ยังไม่ทราบเรื่องการถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ กรณีการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทยดังกล่าว
แต่ในช่วงปี 2545-2546 ตนดำรงตำแหน่งเป็นรมช.คมนาคม กำกับดูแลการบินไทยอยู่ แต่ดูงานแค่ภาคปฏิบัติ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารการบินไทยเสนอขึ้นมา ส่วนอำนาจการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.เป็นของ รมว.คมนาคม รมช.ไม่มีอำนาจอะไรขนาดนั้น
“ผมไม่รู้เรื่องเลยว่าได้รับเกียรติอันนี้ด้วย แต่เข้าใจว่าเขาคงเห็นชื่อผมเป็น รมช.คมนาคม ที่กำกับดูแลการบินไทยตอนนั้นมั่ง แต่ รมช. ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากขนาดนั้น อำนาจการจัดซื้อหรือนำเรื่องเข้าครม. เป็นของ รมว. ถ้าหาก ป.ป.ช. เรียกให้ไปชี้แจง ผมก็พร้อมจะไปยืนยันข้อเท็จจริง” นายพิเชษฐ ระบุ
เมื่อถามเรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน แบบ A340-500 ดังกล่าว นายพิเชษฐ กล่าวว่า “ต้นเรื่องมาจากการบินไทย ที่ทำเรื่องเสนอขึ้นมา ให้เหตุผลเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์การบินระยะไกลในขณะนั้น ส่วนการบริหารงานการบินไทยหลังจากนั้นเป็นอย่างไรผมไม่รู้ แต่ช่วงที่ผมบริหารอยู่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการขาดทุน”
อนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างชั้นไต่สวนเท่านั้น ป.ป.ช. ยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดแต่อย่างใด ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
กล่าวสำหรับข้อมูลคดีความที่เกี่ยวข้องกับ นายทักษิณ นั้น นอกจากคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี นายทักษิณ ชินวัตร ในคดีที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) ซื้อที่ดินรัชดาจำนวน 33 ไร่ 78 ตารางวา ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 ขณะที่นายทักษิณ ได้หลบหนีออกไปใช้ชีวิตนอกประเทศ ไม่เดินทางไปฟังคำพิพากษาแล้ว
นายทักษิณ มีคดีความที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 5 คดี ดังนี้
1. คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 57 ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
2. คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4 พันล้านบาท ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา
3. คดีให้นอมินีถือหุ้น ‘ชินคอร์ปฯ’ เข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม ศาลพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี รวมเป็นจำคุก 5 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว
ส่วนอีก 2 คดีคือ 4. คดีสั่งกระทรวงการคลังบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ 5. คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริตเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท ศาลยกฟ้อง
นอกเหนือจากคดีความในชั้นศาลฎีกาฯแล้ว นายทักษิณ ยังปรากฏชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีสำคัญที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. คือ คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อีก 4 สัญญาสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (คดีข้าวจีทูจีล็อตสอง) โดย ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณเพิ่มเติม โดยกล่าวหาว่านายทักษิณ มีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวีดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค ถ.เลียบทางด่วนรามอินทรา ระหว่างนายทักษิณ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง โดยนายทักษิณ สั่งให้แต่งตั้ง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ (จำเลยคดีระบายข้าวจีทูจีล็อตแรก ปัจจุบันหลบหนี) เป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง) และสั่งการชัดเจนว่า ให้ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ดูแลเรื่องการระบายข้าว
หากนับรวมคดีที่เกี่ยวกับการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบิน ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ล่าสุดดังกล่าว เท่ากับว่า นับตั้งแต่ปี 2551 – ปัจจุบัน นายทักษิณ มีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 8 คดี