ปี 2563 ผลวิจัยชี้ “กิจกรรมทางกาย” ไม่เพียงพอ หรือน้อยกว่า 150 นาที/สัปดาห์ ทำคนไทยสูญเสียปีสุขภาวะถึง 298,000 ปี ตายก่อนวัยอันควร 13,200 คน
วันที่ 15 มี.ค. 2566 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็ง ฯลฯ เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดตัวชี้วัดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ ให้ลดลงเหลือร้อยละ 25 ภายในปี 2568 ภายใต้ 9 เป้าหมายหลัก หนึ่งในนั้นคือ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ซึ่งกรมอนามัยได้ขับเคลื่อน ลดการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ร้อยละ 10
ดร.ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าโครงการพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ผลศึกษาวิจัยภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 พบว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ หรือน้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ เป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะ หรือปีที่มีสุขภาพดีของคนไทยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป จาก 5 โรคไม่ติดต่อ คือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งเต้านม มากถึง 298,000 ปี
ดร.ทพญ.กนิษฐา กล่าวต่อว่า เป็นการสูญเสียในเพศชาย 159,000 ปี เพศหญิง 139,000 ปี ส่วนใหญ่เป็นการสูญเสียในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย 13,200 คน เป็นเพศชาย 6,700 คน เพศหญิง 6,500 คน
ขณะที่ นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผอ.กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า จากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการสูญเสียและภาระทางสุขภาพของกลุ่มโรคไม่ติดต่อจากการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ กรมอนามัยจึงแนะนำให้เพิ่มกิจกรรมทางกายให้เพียงพอ ซึ่งทำได้ในชีวิตประจำวัน
เช่น ลุกขึ้นยืนหรือขยับเคลื่อนไหวร่างกายจากการนั่งทำงานทุก 1-2 ชั่วโมง ใช้บันไดแทนลิฟต์ ใช้ขนส่งสาธารณะ และออกกำลังกาย ควบคู่กับกินอาหารตามหลักโภชนาการ จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อได้