ปีเตอร์ มัวร์..
ถ้าคุณเป็นเกมเมอร์ คุณอาจได้ยินชื่อเขาผ่านหูมาบ้างในฐานะซีอีโอของ เซกา บริษัทผลิตวิดีโอเกมสาขาสหรัฐอเมริกา หรือถ้าคุณเป็นแฟนฟุตบอล ก็น่าจะรู้จักเขาในฐานะผู้บริหารของ ลิเวอร์พูล สโมสรดังแห่งเกาะอังกฤษ
แต่ถ้าคุณเป็นทั้งคนดูบอลและเล่นเกมด้วย ชื่อของ ปีเตอร์ มัวร์ ก็อาจไม่ได้อยู่ห่างจากความรับรู้ของคุณนัก และอะไรกันที่ทำให้พ่อหนุ่มจากอังกฤษ ซึ่งในอดีตเป็นพนักงานร้านขายอุปกรณ์กีฬาในสหรัฐฯ กลายมาเป็นซีอีโอที่ดูจะหยิบจับอะไรก็ประสบความสำเร็จไปเสียหมดได้กัน
เช่นเดียวกับเด็กชาวเมืองลิเวอร์พูลและอังกฤษคนอื่น ๆ ส่วนใหญ่ มัวร์เติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมการแข่งขันฟุตบอลข้นคลั่ก ถึงขั้นที่เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแล้วก็ไปทำงานเป็นครูสอนฟุตบอลในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเบนสายมาเป็นพนักงานในร้านขายรองเท้า และค่อย ๆ ไต่เต้าเลื่อนตำแหน่ง ขยับขยายจนกลายเป็นรองประธานฝั่งการตลาดของรองเท้า รีบอค และสร้างผลงานเป็นที่น่าจดจำด้วยการคว้าตัว ไรอัน กิ๊กส์, เดนนิส เบิร์กแคมป์ และ แอนดี้ โคล มาเป็นพรีเซ็นเตอร์
และนั่นเป็นเรื่องราวก่อนที่โทรศัพท์สายหนึ่งของเพื่อน จะเปลี่ยนเขาจากการเป็นพนักงานบริษัทดีเด่นไปตลอดกาล
“เขาโทรมาถามผมว่า ‘รู้เรื่องวิดีโอเกมมั่งไหมพวก รู้จัก เซกา หรือเคยได้ยินพวกเครื่อง Dreamcast บ้างไหม’ ซึ่งผมก็ตอบไปว่า ‘ไม่ค่อยคุ้นเลยว่ะ’ แต่แล้วเราสองคนก็ย้ายไปแถวเบย์ แอเรียในซานฟรานซิสโก … ใช่แล้ว ที่ตั้งบริษัทเซกานั่นแหละ” มัวร์สาธยาย
และปรากฏว่าเขาเข้ามาคาบเกี่ยวในช่วงเวลาสุ่มเสี่ยงของ เซกา ภายหลังจากที่ทางบริษัทเพิ่งจะปล่อย Dreamcast เครื่องเล่นวิดีโอเกมรุ่นใหม่เอี่ยมออกสู่ท้องตลาดในญี่ปุ่นปี 1998 และเตรียมขยายไปทางฝั่งตะวันตก ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการปั้นให้การตลาดติดเพดาน พร้อมกันกับที่ค่าย โซนี่ ปล่อยเครื่องเล่นวิดีโอเกมโคตรล้ำแห่งยุคสมัย PlayStation 2 ออกสู่ท้องตลาดซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในยุโรป และกลายเป็นคู่แข่งที่น่าหวาดหวั่นอย่างยิ่งของมัวร์และชาวเซกา ทั้งหมดนี้แลกมากับความเครียดสติแทบแตกของมัวร์ ซึ่งเข้ามาทำงานตอนเดือนกุมภาพันธ์ และต้องเปิดตัว Dreamcast สู่ตลาดโลกตะวันตกในเดือนกันยายน
หลังกระโจนเข้ามาในสังเวียนคนทำธุรกิจฝั่งเกมจนเขาออกปากว่า “Dreamcast คือ 18 เดือนแห่งความเจ็บปวด เศร้าใจ แต่ก็ปลดปล่อย” เพราะเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การลงสนามครั้งนี้เจ็บหนักคือ ผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่อย่าง Electronics Arts (เรียกให้คล่องปากว่า EA) ไม่ได้ทำเกมมาให้เล่นบน Dreamcast เลย และกลายเป็นแผลฉกรรจ์ของเครื่องเล่นเจ้ากรรมจนรีวิวออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “เกมน้อย” หรือ “ไม่ค่อยหลากหลาย” ในที่สุด (แม้ว่ามัวร์จะทุ่มทุกทาง ไม่ว่าจะปล่อยโฆษณาทางช่อง MTV ซึ่งเป็นช่องใหญ่ที่สุดในยุคนั้น แต่ก็ไม่ค่อยนำพา)
“มันไม่ประสบความสำเร็จก็จริง แต่มันก็เป็นเรื่องที่ดีและผมไม่เคยเจอใครที่ซื้อ Dreamcast ไปเล่นเกมแล้วรู้สึกไม่คุ้มหรือเสียดายเลย” มัวร์บอก
Dreamcast กลายเป็นฝันร้ายของมัวร์และทีมงานทุกคน เมื่อมันพ่ายให้ PlayStation 2 หลุดลุ่ย มิหนำซ้ำยังทำเซกาขาดทุนจนสะบักสะบอมลากยาวมาจนถึงปลายปี 2000 ยุติสถานะการเป็นผู้ผลิตเครื่องเกมคอนโซลไปตลอดกาล
“สุดท้ายเรามีทางออกแค่ทุ่มเงินต่ออีกสักตั้งแล้วรอล้มละลาย แต่เราก็ตัดสินใจว่าต้องกัดฟันสู้ต่อ” มัวร์บอก “เราเลยหลบมาเลียแผลตัวเอง ยอมรับว่าตัวเองพ่ายแพ้ในเกมนี้ และติดต่อไปยังโซนี่กับนินเทนโด เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องชุดพัฒนาเกม (Development Kit)”
ทั้ง โซนี่ และ นินเทนโด ไม่ได้ติดต่อมัวร์หรือเซกากลับมาเพื่อให้เซ็นสัญญาใช้ชุดพัฒนาเกมในตอนนั้น แต่กลายเป็นยักษ์จากอีกวงการอย่าง ไมโครซอฟท์ ภายใต้การกุมบังเหียนของ ร็อบบี้ แบช ที่ดึงตัวมัวร์ไปช่วยทำการตลาดให้โปรเจกต์เบอร์ใหญ่ … โปรเจกต์ยักษ์ที่มีชื่อว่า Xbox
“ตอนนั้นทุกคนพากันบอกว่าไมโครซอฟต์ทำไม่ได้หรอก แต่ผมเชื่อว่าพวกเขาเอาอยู่นะ เพราะผมเชื่อในออนไลน์” มัวร์ย้ำ ในเวลานั้นเป็นช่วงปลายปี 2001 ที่กระแสอินเตอร์เน็ตเริ่มบูมทั่วถึงแทบทุกชุมชน
“ผมคิดมาตลอดว่าโลกออนไลน์นี่แหละจะเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ เราเลยได้คำโปรย ‘We’re taking games where gaming is going’ ซึ่งทำทุกคนฮาก๊าก เพราะตอนนั้นเรามีแค่ระบบเซกาเน็ต (ระบบออนไลน์เกมของเซกา ที่เชื่อมต่อผ่านโมเดมแบบ Dial-Up ผ่านสายโทรศัพท์) กับคนใช้งานจริงแค่ห้าหมื่นคน แต่ผมว่า Dreamcast นี่แหละที่เป็นเครื่องเล่นเกมรุ่นเก๋าที่ปูทางให้เครื่องเล่นรุ่นต่อ ๆ ไปอย่างแท้จริง” มัวร์บอก
และนั่นไม่ใช่คำเกินเลย เพราะหลังชอกช้ำจาก Dreamcast มัวร์ค่อย ๆ สร้างฐานแฟนในช่วง Xbox รุ่นแรก แล้วค่อยประสบความสำเร็จระดับถล่มทลายในการทำการตลาดให้ Xbox 360 คู่ท้าชิงที่ส่ง PlayStation 3 ลงไปอยู่ในตำแหน่งเบอร์ 2 ในตลาดอเมริกาเหนือแบบสุดเซอร์ไพรส์
แต่ที่ไวรัลไปกว่านั้นจนถูกพูดถึงอย่างหนาหู คือเมื่อมัวร์โปรโมตเกม Halo 2 ซึ่งเปิดตัววันที่ 9 พฤศจิกายน 2004 เจ้าตัวโชว์ความอินจัดถึงขั้นไปสักลายวันเปิดตัวเกมลงบนแขนขวา และอีกเกมคือ Grand Theft Auto 4 ที่ป๋ามัวร์สักเป็นชื่อเกมลงโต้ง ๆ ที่แขนซ้าย กลายเป็นแผนการโปรโมตแบบบ้าดีเดือดที่ทั้งนักข่าว ทั้งแฟนเกมตั้งคำถามว่าคุณพี่จะลงทุนอะไรขนาดนั้น (แม้ว่าในเวลาต่อมา จะมีข่าวแว่วมาว่ามันเป็นรอยสักแบบชั่วคราวก็ตามที แต่หลายคนก็ยังคิดว่ามันช่างเป็นแผนการโปรโมตที่บ้าระห่ำดีจริง ๆ)
แบบเดียวกันกับสมัยโปรโมตเกม Rock Band ที่มัวร์กระโดดขึ้นเวทีไประเบิดพลังผ่านกีตาร์ด้วยเพลง Main Offender ของวง The Hives ที่ถูกพูดถึงแบบชวนช็อก เพราะอยู่ดี ๆ มัวร์ก็ไปกดโดนปุ่มหยุดเกมเข้า แถมยังสองครั้งอีกต่างหาก ! แต่กระแสตอบรับก็ยังน่าชื่นใจ เพราะเกมประสบความสำเร็จ งานโปรโมตเกมก็ไปได้สวย แถมมัวร์ยังกลายเป็นขวัญใจชาวร็อคกับลีลาเล่นกีตาร์อย่างมันส์บนเวที
อย่างไรก็ดี ไอ้ความบ้าพลังแบบนี้ บวกกับลักษณะสู้ไม่ถอย ก็อาจเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้มัวร์ดิ้นรนเอาตัวรอด นับตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากการทำงานในแวดวงขายรองเท้ากีฬามาสู่วงการเครื่องเล่นเกม และยอมรับว่ามันช่างมอบบทเรียนแสบสันต์ให้เขาอย่างที่ไม่อาจจินตนาการถึง “ตอนนั้นผมโกรธโซนี่มาก แต่มองกลับไปแล้ว หากผมอยู่ในสถานะเดียวกันกับเขา ผมก็คงทำอย่างเดียวกันนี่แหละ เพราะมันช่างเสี่ยงเหลือเกิน”
และถัดจากนั้นอีกไม่กี่ปี EA ผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่ (ที่เคยทำเขาจุกด้วยการไม่ผลิตเกมลง Dreamcast ในตอนโน้น) ชักชวนมัวร์ให้มาดูแลแผนก EA Sports ราว ๆ ปี 2007 ซึ่งถือเป็นการเติมเต็มความฝันวัยเยาว์ของเด็กชายจากลิเวอร์พูลอย่างมัวร์โดยแท้ และประเดิมตำแหน่งหัวหน้าแผนกเกมด้วย FIFA 09 ภาคแรกของการประเดิมระบบ Ultimate Team ที่จะกลายเป็นบ่อเงินบ่อทองของบริษัทในอีกหลายปีต่อมา ซึ่งผลตอบรับก็แสนน่าชื่นใจ
“ผมว่ายังมีคนสัก 18 ล้านคนได้มั้งที่พร้อมจะซื้อ FIFA ทุกครั้งที่เกมออกเวอร์ชั่นใหม่ ๆ” เขาบอกอย่างสุขใจภายหลังจากประสบความสำเร็จจากเกมฟุตบอลมาหลายต่อหลายเวอร์ชั่น “และกล้าพูดเลยว่ามีอีก 25 ล้านคนที่อย่างน้อยต้องเคยได้เล่น FIFA 12 ของเรามาแล้ว” ก่อนจะขยับขยายแขนขาไปยังฝั่งอีสปอร์ต ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วราวปลายปี 2015 และเป็นหนึ่งในคนที่ยืนยันว่าอีสปอร์ตนั้นแสนจะมหัศจรรย์
“ผมเคยเห็นแฟนเกม League of Legends, Dota 2 และ Counter-Strike : Global Offensive ราว ๆ หมื่นคนส่งเสียงเชียร์ผู้เล่นชั้นยอดของพวกเขา” มัวร์บอก “แล้วผมสัมผัสได้ถึงบรรยากาศเอาเป็นเอาตาย จริงจังจากคนดูเหล่านี้ เหมือนเวลาพวกเขาดูกีฬาอย่างอื่นนั่นแหละ”
กระทั่งในปี 2017 ที่มัวร์เปลี่ยนตัวเอง จากการเป็นหัวหน้าแผนกเกมกีฬา ไปสานฝันความเป็นเด็กชาวเมืองลิเวอร์พูลของเขา ด้วยการนั่งแท่นเป็นซีอีโอของสโมสรลิเวอร์พูลด้วยตัวเอง
“ผมเป็นสเกาเซอร์ (คำเรียกชนชั้นแรงงานในลิเวอร์พูล) ผมรู้จักลิเวอร์พูลดีและเข้าใจคนลิเวอร์พูลด้วย” เขาบอก
ซึ่งภายใต้ปีกการบริหารของเขา ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2018-19 ต่อด้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2019-20 สิ้นสุดการรอคอยแชมป์ลีกอันแสนยาวนานร่วม 3 ทศวรรษลงในที่สุด และหลายคนคิดว่า การโลดแล่นอยู่ในแอนฟิลด์น่าจะเป็นจุดที่มัวร์พออกพอใจที่สุดแล้ว มันยังจะมีอะไรให้สเกาเซอร์ที่พาลิเวอร์พูลได้แชมป์ลีก อยากลุกออกจากเก้าอี้ผู้บริหารหงส์แดงด้วยหรือ ?
คำตอบเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 2021 เมื่อมัวร์แจ้งข่าวว่า เขากำลังจะหวนกลับมาสู่สนามรบของเกมอีกครั้ง ด้วยการเข้าร่วมกับ Unity Technologies บริษัท Game Engine ในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส (SVP) และผู้จัดการ (GM) ฝ่าย “กีฬาและความบันเทิงแบบถ่ายทอดสด” และนี่เองที่น่าจับตามาก ๆ เพราะมันคือการหวนคืนสู่สนามรบเดิม หากแต่เปลี่ยนรูปแบบการเล่นใหม่สำหรับมัวร์
Unity คือหนึ่งในสองผู้นำด้านธุรกิจ Game Engine ซึ่งเป็นเหมือน “ระบบชิ้นส่วน” ที่ผู้สร้างเกมนำมาประกอบกันจนเป็นเกมของตัวเอง แทนที่จะต้องสร้างขึ้นมาใหม่หมดจากธาตุธุลีไปเสียทุกอย่าง กระบวนการสร้างเกมสมัยใหม่จึงง่ายขึ้น เร็วขึ้นสำหรับเกมเล็ก และซับซ้อนไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับเกมใหญ่
การเข้ามาของมัวร์ในตำแหน่งที่น่าจะไม่มีมาก่อนของ Unity นั้นน่าติดตามอย่างยิ่งว่า จากที่โฟกัสกับการสร้าง Game Engine ให้คนอื่นไปสร้างเกมอย่างเดียว (ต่างกับ Epic คู่แข่งเบอร์หนึ่งที่นอกจากจะมี Unreal Engine ให้คนอื่นใช้สร้างเกม ตัวเองก็ยังทำธุรกิจทั้งสร้างทั้งขายเกมด้วย) Unity จะเอา Know-How ของมัวร์มาขยับขยายไปทำอะไร
หากเรามองจากภาพรวมที่ผ่านมา ปีเตอร์ มัวร์ ถือว่าประสบความสำเร็จในฐานะผู้บริหาร นับตั้งแต่การเป็นหัวเรือใหญ่ให้ Reebok แล้วขยับมาในวงการเกม ซึ่งแม้ในระยะแรกจะล้มลุกคลุกคลานหรือเจ็บเนื้อเจ็บตัวบ้าง แต่ก็พูดได้อย่างเต็มปากว่า ในเวลานี้เขาเป็นหนึ่งในคนที่เจนสังเวียนธุรกิจเกมมากที่สุดคนหนึ่ง ตลอดจนในโลกลูกหนังที่ได้เป็นประธานให้ทีมในฝันสมัยวัยเยาว์ (แถมคว้าถ้วยแห่งพันธสัญญา 3 ทศวรรษมาครองได้)
ชายคนนี้กระโดดออกจาก Safe Zone สู่ความท้าทายใหม่ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า นับว่าเขาเป็นซีอีโอที่ “คิดการใหญ่” และ “ใจนิ่ง” ของจริงท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายมากมายตลอดอาชีพ น่าจับตาว่าก้าวใหม่ของปีเตอร์ มัวร์ กับ Unity จะนำสิ่งใดมาให้โลกได้ตื่นเต้นกันอีก