เทพ บรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ให้หวย นาคไม่ใช่งูแต่เป็นคนพื้นเมือง? ชวนหาที่มาของ “นาค” ต้อนรับปีงูใหญ่
ปี 2567 นี้ตรงกับ ‘ปีมะโรง-งูใหญ่’ ตามนักษัตรแบบจีน แน่นอนว่าพูดถึงพญางูยักษ์ คนไทยส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพของพญานาค เจ้าแห่งโลกใต้พิภพบาดาล เจ้าแห่งแม่น้ำโขง ผู้ดลบันดาลทรัพย์สมบัติ โชคลาภ ให้แก่ลูกหลานผู้ศรัทธา แต่คำว่า ‘นาค’ เดิมแล้วไม่ใช่ภาษาไทย คำนี้กลับเป็นภาษาสันสกฤต ภาษาเก่าแก่ของอนุทวีปอินเดีย และนาคอินเดียไม่มีหงอนยาวสูงยาวเหมือนไทยเสียด้วย
นาค คือใคร
‘Naga/ นาค’ เป็นคำภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า งูใหญ่ โดยเฉพาะพวกงูมีแม่เบี้ย ไม่ว่าจะเป็น งูเห่า งูจงอาง ซึ่งต่างจากคำว่า ‘Sarpa/ สรรปะ’ ซึ่งแปลว่างูในภาพรวม เช่น งูดินและงูเขียว ทั้งนี้ คำว่า ‘นาคา’ ยังอธิบายถึงสิ่งอื่นที่มีขอบเขตมากกว่าเพียงแค่งูใหญ่ได้ด้วย เช่น นาคาในบางบริบทสามารถแปลว่าช้าง เมฆ หรือภูเขา เนื่องจากลักษณะยาวและคดโค้งที่คล้ายงู ความหมายเทียบเคียงนี้ชัดเจนอยู่ในชื่อ ‘ช้างปัจจัยนาเคนทร์’ หรือช้างปัจจัยนาค ของพระเวสสันดร ซึ่งหมายถึงพญาช้างผู้มอบปัจจัยแก่ผู้คนโดยรอบ และนาเคนทร์ในส่วนนี้หมายถึงช้างไม่ใช่งูใหญ่
มีความน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือคำว่า ‘นาค’ เป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำว่า Nake หรือ Naked ซึ่งหมายถึง ‘เปลือย’ ในภาษาอังกฤษ ทำให้บางครั้งนาคมีความหมายสื่อไปถึงคนพื้นเมืองผู้มิได้แต่งกายตามอย่างชาวอารยันด้วย ปัจจุบันในอินเดียยังมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าพวกนาค หรือนาคา คือชาวนาคาที่อยู่ในรัฐนาคาแลนด์ (Nagaland) ทางทิศตะวันออกของอินเดีย ความหมายในฐานะชนพื้นเมืองยังเห็นได้ชัดในวรรณกรรมทางพุทธศาสนา เช่น คัมภีร์ชื่อมหาวงศ์ ของประเทศศรีลังกา แต่งขึ้นราว พ.ศ. 900 เล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปปราบพวกนาคที่ครองเกาะลังกาอยู่ เช่นเดียวกัน ความหมายตรงนี้ นาคไม่ใช่งูแต่เป็นคนพื้นเมืองเดิมในศรีลังกา เช่น ชาวเวดด้า ซึ่งอาศัยอยู่เป็นหมื่นปีแล้ว
หรืออาจหมายความถึงคนเปลือยก็ได้ เพราะมีนักบวชผู้บูชาพระศิวะบางกลุ่มเรียกตัวเองว่านาคา โดยพวกเขานุ่งลมห่มฟ้า ไม่สวมเสื้อผ้า ทาตัวด้วยขี้เถ้า เดินเร่ร่อนไปยังสถานที่ต่างๆ
ในเชิงเทวตำนาน ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของนาคที่เราจะสามารถเห็นได้ทั้งจากวรรณกรรมพุทธศาสนาและวรรณกรรมของศาสนาฮินดู คือความสามารถในการแปลงกาย บางครั้งก็เป็นคนมีมงกุฎเป็นงู เป็นคนมีท่อนร่างเป็นงู หรือเป็นพญางูใหญ่มีหลายเศียร ทำให้นาคถูกนับถือในฐานะ Semi-Divine หรือกึ่งเทพ โดยพวกนาคปกครองจักรวาลล่าง (โลกสวรรค์-ส่วนบน โลกมนุษย์-ส่วนกลาง โลกปาตาละ-ส่วนใต้) ส่วนที่ต่ำที่สุด เรียกว่า ปาตาละโลก (Patala Lok) หรือนาคโลก (Naga Lok) คนไทยเราออกเสียงคำนี้ว่าปาดาลหรือบาดาล
มหาฤาษีนารทอธิบายว่า ปาตาละโลกสวยงามกว่าโลกสวรรค์ เต็มไปด้วยอัญมณีอันงดงาม สวน ทะเลสาบที่สวยงาม และสาวอสูรผู้น่ารัก กลิ่นหอมหวานลอยอยู่ในอากาศตลอดเวลา หลอมรวมกับเสียงเพลงอันไพเราะ ดินที่นี่มีสีขาว สีดำ สีม่วง ดินทราย สีเหลือง และหินมีสีทองด้วย ดินแดนแห่งนี้มีราชานาควาสุกรีเป็นเจ้า พวกนาค ณ ที่นี้แต่งตัวงดงาม ประดับกายด้วยเพชรอันสุขสว่าง
อีกดินแดนหนึ่งซึ่งปกครองโดยเหล่านาคคือ มหาตละโลก (Mahatala Lok) ซึ่งดินแดนนี้อยู่ในชั้นที่ 5 จากทั้งหมด 7 ชั้นของโลกส่วนใต้ เป็นที่อาศัยของพวกนาคหลายเศียร ลูกหลานของนางกัทรูและมหาฤษีกัศยปะ ซึ่งนาคตระกูลนี้ต่างกับนาคที่ปาตาละ คือมีนิสัยดุร้าย ร่างกายดำสนิท ไม่ส่วมเครื่องประดับ นาคพวกนี้หนีมาอาศัยยังมหาตละโลกเพียงเพื่อลี้ภัยจากการตามล่าของพญาครุฑเท่านั้น
นาค เทพโบราณแห่งผืนดิน
การบูชางูในอนุทวีปมีหลักฐานปรากฏเก่าที่สุดย้อนไปได้ถึงราวสมัยหินใหม่ จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีจิรันทะ (Chirand) รัฐพิหาร พบตุ๊กตาดินเผารูปงูกำหนดอายุได้ราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นหลักฐานเกี่ยวกับงูที่เก่าที่สุดในเอเชียใต้ อีกตัวอย่างที่ชัดเจน คือแหล่งโบราณคดีลาลปหารี (Lal Pahari) รัฐมัธยประเทศ ซึ่งขุดค้นโดยทีมนักโบราณคดีชาวตะวันตก พบร่องรอยการบูชางูคล้ายแหล่งโบราณคดีจิรันทะ
การนับถืองูมาเด่นชัดมากอีกครั้งในยุคพระเวท มีการกล่าวถึงงูในฐานะผู้รักษาทรัพย์แห่งผืนดิน (Ahi-Budhnya – the Serpent of the Deep) ทั้งคัมภีร์ฤคเวทกล่าวถึงอหิพุทธยะไว้ในลักษณะที่น่ายำเกรงและพึงเคารพในทุกวันเช่นเดียวกับเทพเจ้าอื่นๆ คัมภีร์อาถรรพเวทบรรจุคาถาจำนวนมากที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกันพิษงู จากมุมมองของคัมภีร์พระเวทจะเห็นว่า คนอินเดียในสมัยนั้นมีความยำเกรงและกลัวงูพอสมควรทีเดียว อาจเป็นเพราะงูเป็นสัตว์ที่มีพิษ ทำให้ภาพของงูออกมาในเชิงที่น่ากลัวและเป็นสัตว์ที่นำพามาซึ่งเรื่องโชคร้าย
ย้อนกลับมาที่แหล่งโบราณคดีลาลปหารี ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของแหล่งโบราณคดีนี้คือ ตั้งอยู่ใกล้กับสถูปพุทธศาสนาโบราณแห่งภารหุต กำหนดอายุทางรูปแบบศิลปะและตัวอักษรได้ราว 130 ปีก่อนคริสตกาล บนเสาของรั้วล้อมรอบสถูปที่ยังหลงเหลือ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์โกลกัตตา (Indian Museum, Kolkata) ปรากฏรูปพญานาคตนหนึ่งมีจารึกชื่อ จักรวกะนาคราช (Cakravaka Naga) ในรูปลักษณ์บุรุษยืนตรง (สมภังคะ) ยืนพนมมือ (อัญชลีมุทรา) หันหน้าเข้าหาสถูป ศีรษะส่วมผ้าโพกหัว ด้านบนมีหัวงู 5 หัว ข้อน่าสังเกตคือ บนสถูปแห่งนี้ปรากฏภาพเล่าเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งชาดก พุทธประวัติ และสัญลักษณ์มงคลอื่นๆ อีกทั้งยังมีการสลักภาพนาคที่มีหลักฐานอ้างอิงตามพุทธประวัติ เช่น เรื่องราวของเอลปัตระนาค (เอราปถนาค ในภาษาบาลี) ตามข้อความของคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท แต่กลับไม่เคยพบชื่อจักรวกะนาคราชในเอกสารพุทธศาสนาฉบับใดเลย จุดนี้อาจสะท้อนถึงความเป็นไปได้ว่า นาคตนนี้เป็นนาคท้องถิ่นที่เคยได้รับการนับถืออยู่ก่อนแล้วบริเวณแหล่งโบราณคดีลาลปหารี ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการนับถืองูในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ก่อนหน้าแล้ว
ไม่ว่าจะตำแหน่งของสถูปที่ตั้งอยู่บริเวณตีนเขาของแหล่งโบราณคดีลาลปหารี การปรากฏภาพสลักจักรวกะนาคราช พร้อมทั้งหลักฐานทางวรรณกรรมอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว สะท้อนชัดถึงกระบวนการการดูดกลืนความเชื่อท้องถิ่นเดิมเข้ามาสู่ในจักรวาลของศาสนาเกิดใหม่ ในกรณีนี้คือพุทธศาสนา ลักษณะเช่นเดียวกันนี้ เราก็ยังเห็นได้จากตำนานท้องถิ่นอื่นๆ ของในอินเดีย รวมทั้งของไทยด้วย โดยเรามักได้ยินเรื่องปู่นาคราชองค์ต่างๆ ในภาคอีสานบำเพ็ญเพียรตามหลักการพุทธศาสนา ซึ่งก็ย้ำชัดถึงการหลอมรวมกันระหว่างศาสนาพุทธกับความเชื่อดั้งเดิมของพื้นที่อุษาคเนย์
นาค ในอีสานมาจากไหน
ขอเริ่มเรื่องนี้ด้วยการตรวจสอบพงศาวดารล้านช้างของลาว พงศาวดารฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อแรกสร้างเมืองหลวงพระบาง มีฤาษี 2 ตนเดินทางมาชี้จุด และมีนาค 7 ตนมาเข้าเฝ้า ร่วมกันสร้างเมืองชวา (ชื่อเดิมของหลวงพระบาง) ขึ้น เรื่องเล่านี้ตีความได้ว่า เมืองหลวงพระบางเดิมเกิดจากคน 7 เผ่า จนต่อมาราชอาณาจักรลาวได้ใช้ชื่อว่า ‘ศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว’ คำว่า ‘สัตนาค’ ในชื่อก็หมายถึงนาค 7 ตนเมื่อแรกสร้างพระนครนั่นเอง ในจุดนี้การกล่าวถึงฤาษี นักมานุษยวิทยาชี้ว่า เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอินเดียแบบกลางๆ ไม่แบ่งพุทธหรือพราหมณ์
ในตำนานเท้าฮุ่งท้าวเจือง วีรบุรุษผู้เป็นต้นตระกูลของชาวลาว อ้างถึงแม่น้ำโขงในชื่อ ‘กาหลง’ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า เก้าหลวง คือนาคทั้ง 9 ที่เฝ้าแม่โขงอยู่ ตำนานกำเนิดแม่น้ำโขงในอุรังคธาตุ (กำเนิดพระธาตุพนม) ซึ่งเล่ากันอยู่ในวัฒนธรรมไทย-ลาว เล่าว่า นาคเป็นผู้ทำให้เกิด แม่น้ำสำคัญ 3 สาย คือมูล ชี และของ (โขง) และยังเล่าอีกว่า ในบริเวณหนองแสง จังหวัดอุดรธานี เป็นที่อยู่ของนาคใหญ่ นาคตนหนึ่งชื่อชีวายนาค เป็นผู้สร้างแม่น้ำอู ตรงเมืองหลวงพระบาง โดยการควักเอาดินออก เกิดเป็นทางน้ำและเขา (คำว่า อู มาจากอุรังคธาตุ หมายถึง กระดูกส่วนไหปลาร้าของพระพุทธเจ้า ซึ่งเชื่อกันว่า ประดิษฐานอยู่ที่พระธาตุพนม) แม้แต่ในตำนานพระร่วงของสุโขทัยก็ว่ากันว่า ท่านเป็นลูกนางนาค
ตำนานเหล่านี้อาจจะดูซับซ้อน แต่สิ่งหนึ่งที่เน้นให้เห็นคือ นาคมีความสำคัญมากกับคนในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว บริเวณภาคอีสานตอนบน ตัดภาพมาที่อีสานใต้สักนิด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ แถบนี้วัฒนธรรมเขมรเป็นพื้นหลังที่แข็งแรงมาก คนเขมรจริงๆ ก็นับถือนาคเหมือนกับคนลาว โดยเชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายหญิงของพวกเขาคือนางนาคชื่อ โสมา แต่งกับเจ้าชายหนุ่ม ชื่อ พระทอง เกิดเป็นตำนานพระทองนางนาคและราชวงศ์เขมรสืบมา
ในจดหมายเหตุโจต้ากวน ราชทูตจีน เดินทางมาราชสำนักเขมรในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 เล่าว่า มีปราสาทชื่อ ปักสีจำกง กษัตริย์เขมรต้องขึ้นไปนอนกับนางนาคทุกคืนบนนั้น หากไม่ไปจะเกิดโชคร้าย ที่เล่ามาตรงนี้จะบอกว่า นาคเป็นวัฒนธรรมและความเชื่อร่วมกันของพื้นที่อุษาคเนย์ในฐานะบรรพชน และในฐานะผู้สร้างสรรค์ภูมิศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์บางพื้นที่ในภูมิภาค
หลังรับวัฒนธรรมพุทธศาสนา นาคแบบโบราณของชาวอุษาคเนย์เริ่มดึงเอาความเป็นอินเดียมาผสม นาคกลายมาเป็นผู้รับใช้พระพุทธศาสนา เช่น ตำนานพระบาทบัวบกของจังหวัดอุดรธานี เล่าว่าพญานาครับพระธาตุจากพุทธเจ้าแล้วสร้างพระธาตุบริเวณปากถ้ำของตนเพื่อคอยดูแลพระธาตุ และรูปแบบของพญานาคก็พูดตามตรงว่ามีความซับซ้อนขึ้น ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากพุทธศาสนา คือแบ่งชนชั้นของนาคออกเป็นตระกูลต่างๆ ตามแบบอินเดีย
นาคให้หวย พลังที่สืบต่อมาจากบรรพกาล
ปัจจุบัน การบูชานาคในอินเดียยังเป็นกิจกรรมที่คนทั่วไปปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย มีวันสำคัญอย่าง ‘นาคปัญจมี’ เพื่อบูชานาคโดยเฉพาะ วัดของพญาวาสุกรีในอินเดียภาคใต้ก็มักพบเห็นหินสลักรูปงูได้ทั่วไป ในภาคตะวันออกก็มีเทพงูท้องถิ่นอย่างมันสาเทวี (Mansa Devi) ชาวอินเดียเชื่อว่า การบูชานาคจะช่วยให้เราได้รับสิ่งทางโลกที่ปรารถนาแต่ไม่อาจนำไปสู่การหลุดพ้นได้
ฉะนั้น หากถามว่านาคศักดิ์สิทธิ์ไหม? สำหรับผมแน่นอนครับ ความพิศวงของมนุษย์เราที่มีต่อสัตว์ไร้ขาชนิดนี้ ไม่เคยจางหายมาตลอดระยะเวลาหลายพันหลายหมื่นปีของอารยธรรมมนุษย์
กระโดดกลับมายังขอบเขตของวัฒนธรรมไทย-ลาว พญานาคในเชิงหนึ่งคือ ‘บรรพบุรุษ’ เวลาคนเราไม่สบายใจ คนแรกๆ ที่เราจะนึกถึงคือ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พญานาคก็เช่นกัน ในภาวะความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน คนอีสานจึงหันกลับหาความรู้สึกผูกพันเดิมที่ตนมีกับพญานาค กลับไปหาเหล่านาคในลักษณะหลานกลับไปหาพ่อปู่แม่ย่า พอมองแบบนั้นจึงทำให้รู้สึกได้ว่า คนเราในปัจจุบันทุกข์มาก ลึกๆ แล้วเราโหยหายความอบอุ่น ความรู้สึกปลอดภัย
ผมจึงมองว่า นาคศักดิ์สิทธิ์เพราะนาคมอบความอบอุ่นให้คนอีสานได้และให้มาตลอด อีกปัจจัยที่ส่งผลให้คนหันมาไหว้พญานาคมากขึ้น ก็เพราะ ‘สื่อ’ ที่ประโคมข่าวกัน ถึงขนาดที่ปัจจุบันมีรายการพาไปมู (คำย่อของ มูเตลู) โดยเฉพาะ สิ่งเหล่านี้ก็ประเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ คนจึงหันไปไหว้ไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันมากขึ้น
“เขาว่าดีก็เอาลองดูสักหน่อย เผื่อจะดีขึ้น เผื่อจะถูกรางวัล”