ปิยบุตร โต้ สว. รธน.ภาคประชาชนไม่ได้ล้มล้าง ชี้เราคือผู้รักษาประชาธิปไตย

Home » ปิยบุตร โต้ สว. รธน.ภาคประชาชนไม่ได้ล้มล้าง ชี้เราคือผู้รักษาประชาธิปไตย



ปิยบุตร โต้ สว. รธน.ภาคประชาชนไม่ได้ล้มล้าง ชี้เราคือผู้รักษาประชาธิปไตย-สถาบันกษัตริย์ ขอแรงร่วมหนุนผ่านวาระ 1

17 พ.ย. 2564 – เวลา 01.20 น. นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้เสนอร่างอภิปราย สรุปว่า กระบวนการในวันนี้คือการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอแก้ไข นำความต้องการ เสียงเรียกร้องขอบประชาชนด้านนอกเข้ามาถกเถียงกันในสภาฯ อย่างมีอารยะ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะฟังและชั่งน้ำหนักถึงเหตุผล

ที่ผ่านมาพวกเราในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไข ถูกกล่าวหาสารพัด ส่วนตัวยึดถือคติว่าเป็นบุคคลสาธารณะย่อมถูกตำหนิติเตียนได้ ตนไม่ถือสา ไม่คิดฟ้องหมิ่นประมาท ส่วนที่เพื่อนสมาชิกกังวลว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้บั่นทอน บ้างก็ว่าควบคุม ล้วงลูก ลงเหว บ้างก็ว่ายกร่างด้วยความเกลียด ความกลัว ความเกิน

ขอยืนยันว่าร่างนี้ไม่ได้มีสมญานามตามที่ท่านอ้างมา เรายกร่างจากสมมติฐานที่ว่ารัฐธรรมนูญไทยผิดเพี้ยนไปจากปกติ เฉไฉออกจากประชาธิปไตยมากขึ้นหลังการรัฐประหารปี 49 และ 57 ดังนั้นร่างนี้หวังปรับปรุงให้สู่จุดสมดุล ไมใช่เรื่องสุดโต่งแต่อย่างใด แต่ต้องการทำให้กติกากลับมาเป็นกลาง แข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม คืนความปกติให้สังคมการเมืองไทย หากใครคิดว่าร่างนี้สุดโต่ง อาจเป็นเพราะท่านใส่แว่นสายตาสุดโต่งของอีกข้างหนึ่งมองเข้ามาในร่างปกติ ท่านจึงมองว่าสุดโต่ง

ตลอดการประชุมวันนี้ ได้ยินสมาชิกพูดว่าข้อเสนอต้องประนีประนอม ต้องพูดคุยกัน ร่างนี้คือความพยายามประนีประนอม เอาสิ่งที่อยู่ข้างนอกเข้ามาคุยในสภา ที่กังวลว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระองค์กรอื่น กระทบการแบ่งแยกอำนาจ แล้วไม่กังวลบ้างหรือว่าศาลจะแทรกแซงองค์กรอื่น อำนาจรวมศูนย์มาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ทั้งนี้ใครก็อ้างประชาชนได้ทั้งสิ้น เพราะประชาชนคือแหล่งแห่งความชอบธรรมสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย

แต่ ส.ว. อ้างประชาชนได้แต่เพียงในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ข้อกังวลใจที่สำคัญอย่างยิ่งที่อาจทำให้ร่างไม่ผ่านความเห็นชอบ คือร่างนี้จะล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญเลยแปลคำว่าล้มล้าง คือทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งสูญสิ้นไป ซึ่งร่างนี้ไม่ได้ล้มล้าง ประเทศนี้ยังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ระบบรัฐสภายังดำรงอยู่ พระมหากษัตริย์ยังเป็นประมุขต่อไป ผู้พิพากษายังตัดสินคดีตามกฎหมายต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ