ปิยบุตร ฝัน เลือกตั้งรอบหน้า “พรรคก้าวไกล” อาจได้คะแนนป๊อปปูล่า 8-10 ล้าน!

Home » ปิยบุตร ฝัน เลือกตั้งรอบหน้า “พรรคก้าวไกล” อาจได้คะแนนป๊อปปูล่า 8-10 ล้าน!


ปิยบุตร ฝัน เลือกตั้งรอบหน้า “พรรคก้าวไกล” อาจได้คะแนนป๊อปปูล่า 8-10 ล้าน!

“ปิยุบตร” มองการเมืองไทย ปี 64-65 ชี้ ประชาชน หมดศรัทธาสถาบันการเมือง ส.ส.โดดประชุม-ส.ว.หวงอำนาจ-ศาล รธน.ตัดสินขัดหูขัดตา – องค์กร(ไม่)อิสระ ย้ำชัด รอยร้าวฝ่ายค้าน-รัฐบาลมากขึ้น ทุกฝ่ายเห็นตรง “ก้าวไกล” แกะดำการเมืองไทยต้องกำจัด

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการเมืองปี 2564 และปี 2565 ว่า ตนขอแบ่งเป็น 1.การเมืองในสถาบันการเมือง และ2.การเมืองนอกสถาบันการเมือง โดย 1.การเมืองในสถาบันการเมือง ในปี 64 เป็นปีที่สถาบันการเมืองมีพฤติกรรมและมีการใช้อำนาจ จนทำให้ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธาและสิ้นหวังมากยิ่งขึ้น

สภาผู้แทนราษฎรก็เป็นบรรยากาศที่ห้องประชุมโหรงเหรง สมาชิกวุฒิสภาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขัดขวางสิ่งที่จะมาแตะอำนาจของตัวเอง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยขัดหูขัดตาประชาชนหลายกรณี และองค์กรอิสระมีคำวินิจฉัยที่ประชาชนตั้งคำถามถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระ พฤติกรรมเหล่านี้ของสถาบันการเมืองทำให้ประชาชนรู้สึกสิ้นหวังและเชื่อว่าจะถึงทางตัน และก็คิดว่าจะแก้อย่างไร

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในปี 64 หากมองที่ฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาล เราจะเห็นรอยปริร้าวมากยิ่งขึ้น สาเหตุมาจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดจากการรวมตัวกันเฉพาะกิจ เพื่อสืบทอดอำนาจและดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเวลาผ่านไปเกิดความแตกร้าวกันภายในพรรค ซึ่งมาจากเรื่องผลประโยชน์และตำแหน่งรัฐมนตรี จนทำให้เกิดกลุ่มก้อนภายใน

ความจริงโมเดลนี้ก็เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่พล.อ.เปรม จัดการได้ ส่วนในฝั่งพรรคร่วมฝ่ายค้านก็มีความคิดความเห็นที่แตกต่างกันของ 2 พรรคฝ่ายค้านใหญ่คือ พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล สาเหตุมาจากการคิดไม่เหมือนกันตั้งแต่เริ่มต้น โดยที่ผ่านมาสังคมได้มองร่มที่ชื่อว่าฝ่ายประชาธิปไตย ที่เกิดจากการต่อต้านการรัฐประหารปี 49 การรัฐประหารปี 57 การสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 60 และการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไปกองรวมกันในชื่อฝ่ายประชาธิปไตย แต่วิธีคิดอุดมการณ์และการทำงานแตกต่างกันตั้งแต่เริ่มต้น

ดังนั้นเมื่อทำงานไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นความแตกต่าง จนผู้สนับสนุนทั้งสองพรรคตั้งคำถามว่าตกลงแล้วอยู่ฝ่ายค้านร่วมกันจริงหรือไม่ เป็นรอยปริร้าวทั้งในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยกลุ่มต่างๆ ทั้งระบบของอำนาจรัฐจะเริ่มแสดงรอยปริร้าวออกมามากยิ่งขึ้น เพราะอำนาจนำแบบเดิมจบไปแล้วและอำนาจนำแบบใหม่ยังเกิดขึ้นไม่ได้

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ในปี 65 การเมืองในสถาบันการเมืองน่าจะเป็นปีที่ถนนหนทางวิ่งไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งซ่อมในหลายเขต การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และในช่วงปลายปีจะมีกระแสและสถานการณ์กดดันให้ยุบสภา โดยเฉพาะภายหลังผ่านกฎหมายการเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง รัฐบาลเองก็คงจะต้องเร่งสปีดทำผลงานและอัดเงินเข้าระบบผ่านนโยบายลดแลกแจกแถม เพื่อเตรียมการสู่การเลือกตั้ง

เช่นเดียวกันที่บรรยากาศทางการเมืองจะกลับมาคึกคัก มีการชักชวนให้ย้ายพรรค และเปิดตัวพรรคใหม่ ทั้งนี้ ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังคงอยู่ แม้คนจะรู้แล้วว่าแก้ไม่ได้ในทางความเป็นจริง แต่ก็จะมีการรณรงค์กันต่อเนื่องอย่างแน่นอน และการรณรงค์เหล่านี้ในท้ายที่สุดจะถูกแปรสภาพให้เป็นนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อนำไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่

“พรรคที่จะเสียเปรียบจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ ผมปฏิเสธไม่ได้ว่าคือพรรคก้าวไกล ที่จะเสียเปรียบที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง นอกจากนี้จะถูกกลไกรัฐเข้าบดขยี้อย่างต่อเนื่องแน่นอน” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า การทำงานของพรรคก้าวไกลทำให้พรรคกลายเป็นแกะดำและตัวประหลาดของการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน ตนคิดว่าไม่มีฝ่ายไหนดีใจหากพรรคก้าวไกลเติบโตมากขึ้น และหากพรรคก้าวไกลหายไปในทำนองเดียวกับที่พรรคสังคมนิยมและพรรคพลังใหม่ถูกปราบลงในช่วงหลัง 6 ต.ค. 2519 หากพรรคก้าวไกลมีชะตากรรมเหมือนกับสองพรรคดังกล่าว ตนเชื่อว่าตัวละครในระบบการเมืองทุกพรรคจะดีใจแน่นอน เพราะสามารถจัดการตัวประหลาดออกจากระบบการเมืองไทยได้

ตัวที่ชี้ชัดในประเด็นนี้คือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งทำให้พรรคก้าวไกลต้องรับสภาพว่าจะได้จำนวน ส.ส. ลดลง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังพิสูจน์ว่าพรรคก้าวไกลจะไปต่อได้หรือไม่ คือ คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต ในสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต 6.3 ล้านคะแนน หากพรรคก้าวไกลสามารถทำคะแนนป๊อปปูลาโหวตได้ที่ 8-10 ล้านคะแนน แม้จะได้ ส.ส. ลดลงเหลือ 50 ถึง 60 คน ตนถือว่านี่คือความสำเร็จที่สะท้อนว่ามีคนไทยประมาณ 20-25% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลอยู่ ถือเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ของการเมืองไทยได้เหมือนกัน

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า 2.การเมืองนอกสถาบันการเมือง ในปี 64 เป็นช่วงขาลงของสถาบันการเมืองเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐสามารถตั้งหลักได้แล้วว่าจะจัดการกับการชุมนุมรอบนี้อย่างไร นั่นคือการใช้นิติสงคราม การใช้กลไกทางกฎหมายตั้งข้อหากับแกนนำหลายคน และใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุม แต่ในปี 65 จะเป็นช่วงเวลาท้าทายของกระบวนการนอกสถาบันการเมือง เพราะจะไม่ได้มีแค่เสียงเรียกร้องของราษฎร เยาวชน และคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่จะมีการชุมนุมเกี่ยวกับเรื่องปัญหาเฉพาะของแต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น

เช่น ปัญหาปากท้องที่ได้รับการเยียวยาไม่พอจากวิกฤตโควิด-19 ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ทำให้ต้องปรับกระบวนทัศน์และกระบวนยุทธรับมือกับความรุนแรงที่รัฐก่อขึ้น แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ 1) แบบป้องกัน คือการไม่ให้ไปชุมนุมและลงถนน โดยหลักหมายสำคัญของรอบนี้เกิดขึ้นในเดือนพ.ย.64 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการวางสนุ้กเพื่อให้จับผู้ชุมนุมให้หมด จนทำให้ผู้ชุมนุมต้องคิดหาทางรอดจากคำวินิจฉัยในการแสดงออกทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีพระราชกำหนดฉุกเฉินที่ประกาศใช้แช่แข็งไว้ยาว ซึ่งนำมาใช้เกี่ยวกับการชุมนุมมากกว่าแก้ไขโควิด-19 และ 2) แบบปราบปราม คือการใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุม จากนั้นก็จับดำเนินคดี หากเป็นแกนนำม็อบก็จับตัวไปคุมขัง ซึ่งทิศทางการเมืองในปี 65 จะเป็นแบบนี้ต่อไป

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ปัญหาที่จะเกิดตามมาคือฝ่ายประชาชนที่ต้องการชุมนุมเรียกร้องจะปรับกระบวนยุทธเพื่อสู้กับมาตรการและความรุนแรงที่รัฐใช้รอบนี้อย่างไร หากยังชุมนุมแบบเดิมคือ เมื่อรัฐใช้ความรุนแรงมาก็ใช้ความรุนแรงกลับ ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร อีกแบบคือการเปลี่ยนวิธีการสู้ใหม่ซึ่งตนสนับสนุนแนวคิดนี้ หากยังใช้วิธีแบบแรกก็รู้ว่า 1.กำลังของผู้ชุมนุมไม่สามารถสู้กับกลไกรัฐที่มีมากมายมหาศาลได้ 2.ผู้เข้าร่วมชุมนุมค่อยๆ หายไป เพราะกลัวจะพบกับความรุนแรง และ 3.ภาพลักษณ์ความชอบธรรมของการชุมนุมจะถูกลดทอนลงไป ข้อเสนอและข้อเรียกร้องของการชุมนุมจะหายไป เหลือแต่เพียงภาพของการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่

“ผมเห็นว่าการชุมนุมแบบเดิมได้ไปสุดทางแล้ว เพราะฝ่ายรัฐตั้งรับได้แล้ว จึงอยากให้เปลี่ยนมาใช้วิธีการรณรงค์ทางความคิด โดยเฉพาะประเด็นการปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งต้องนำกลับมาคุยและทำงานทางความคิดกันใหม่โดยสามารถสื่อสารการปฏิรูปสถาบันฯ ในลักษณะที่มีไมตรีต่อกัน และดูน่ารักได้ สามารถทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอดทนฟังได้ นอกจากนี้จะต้องนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศที่มีหลากหลายเรื่อง เพื่อทำให้เห็นว่านี่คือความต้องการของประชาชนทุกคนทุกฝ่าย ที่รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองได้จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อไป” นายปิยบุตร กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ