ตรัง ประมงจังหวัด ปิดอ่าวทะเลอันดามัน เตือนประมงปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ฤดูปลาวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน ฝ่าฝืนผิดกฎหมาย โทษปรับหนัก 30 ล้านบาท
29 มี.ค. 66 – นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจังหวัดตรัง เปิดเผยตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่และตรัง
เพื่อให้สัตว์น้ำได้แพร่ขยายพันธุ์และฟื้นฟูสัตว์น้ำ ให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ และรักษาระบบนิเวศไว้ให้ยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น ให้รู้จักการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืน
และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานเพื่อปกป้องทรัพยากรและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ
กรมประมงได้ปรับปรุงมาตรการสำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการทำประมงในพื้นที่อ่าวอันดามัน และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2560 ออกประกาศกรมประมงลง วันที่ 22 มีนาคม 2561
เรื่องกำหนดพื้นที่ระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วน โดยกำหนดให้มีการปิดพื้นที่บางส่วนเท่านั้น ตั้งแต่จังหวัด ภูเก็ต พังงา กระบี่ และจังหวัดตรัง เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ 4 จังหวัด โดยกำหนดห้วงระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน ของทุกปี รวมเนื้อที่กว่า 5,000 ตารางกิโลเมตร
ห้ามทำการประมง ด้วยเครื่องมือประมงประสิทธิภาพสูงเป็นบางชนิด และขนาดสำหรับเครื่องมือประมง เพื่อการยังชีพและเครื่องมือประมงประสิทธิภาพต่ำ ยังคงสามารถทำการประมงได้ เช่น อวนลากแผ่นตะเฆ่ ความยาวไม่เกิน 14 เมตร ทำได้ในเวลากลางคืน
และนอกเขตทะเลชายฝั่ง อวนล้อมจับปลากะตักเวลากลางวัน และเครื่องมือประมงพื้นบ้านประเภทต่างๆ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับชาวประมงน้อยที่สุดในการประกอบอาชีพ
นายณัฐรัฐ กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างของกรมประมงทะเล ซึ่งทุกปีจะต้องมีการเก็บข้อมูลเรื่องประชากรสัตว์น้ำในช่วงปิดอ่าว ซึ่งจะต้องทำการศึกษาและวิจัย ทุกปีที่ผ่านมาประชากรของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นทุกปี และกรมประมงเองก็ใช้ค่าข้อมูลของทางวิชาการในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่จำเป็น จัดสรรให้กับเรือประมงพาณิชย์ในการจับสัตว์น้ำในใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์
ซึ่งได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ในเขตประกาศปิดอ่าวเรือประมงพาณิชย์ไม่สามารถเข้าไปทำการประมงในเขตได้อยู่แล้ว ซึ่งจะต้องดูในท้ายประกาศนี้ ซึ่งในระบบดาวเทียมจะมีกำหนดระยะของพื้นที่ของจุดเขตห้ามทำการประมงในช่วงปิดอ่าว
อันนี้จะต้องศึกษาในรายละเอียดในข้อมูลนี้ เพราะว่า จะมีจุดและตำแหน่งแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด แต่เขต ที่ประกาศปิดอ่าว ยังไงก็เป็นเขต ไม่ใช่เขตทะเลชายฝั่ง เครื่องมือประมงพื้นบ้านยังทำได้ตามปกติ
ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายกรมประมง จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 30 ล้านบาท แล้วแต่ชนิดของเครื่องมือ และขนาดของเรือประมง จึงขอให้ชาวประมงใช้เครื่องมือตามที่กำหนดเพื่อป้องกันการถูกจับกุม