พารู้จักกีฬา ปันจักสีลัต หลังไทยคว้า เหรียญทองแรกให้ทีมชาติไทย ล้มแชมป์เก่าทีมอินโดนีเซีย แต่หลายคนไม่เคยได้รู้จัก จนกระทั่งเกิดดราม่า จุ๊บฟอนต์ Thailand ไปใช้
จากกรณีที่ได้มีกระแสดราม่าเรื่องที่ กองประชาสัมพันธ์ กกท. ได้โพสต์ข้อความระบุว่า อิลยาส สาดารา นักกีฬาปันจักสีลัตหนุ่มไทย โชว์ลีลาในการร่ายรำ ก่อนเจ้าตัวจะพ่ายคู่แข่งจากสิงคโปร์ไป 9.930-9.960 คะแนน คว้าเหรียญเงินไปครอง ในปันจักสีลัต ประเภทรำ บุคคลชาย กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่31 “เวียดนาม2021” ซึ่งมีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นภายหลังการโพสต์ประกาศชัยชนะ โดย เพจบุ๊ก Buk Babor ของคุณ สุชาล ฉวีวรรณ เจ้าของฟอนต์ ดังกล่าวได้โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการถูกนำฟอนต์ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจากประเด็นนี้เองทำให้หลายคนรู้สึกสงสัยว่ากีฬานี้คืออะไร ปันจักสีลัต คืออะไร ไม่เคยได้ยิน ทั้งนี้ Bright today จะพาไปรู้จัก ปันจักสีลัต ว่ามีที่มาอย่างไร
ปันจักสีลัต คืออะไร
ปันจักสีลัต (Pencak Silat) เป็นคำที่มาจากภาษาอินโดนีเซียมาจากคำว่า ปันจัก (Pencak) หมายถึงการป้องกันตนเอง และคำว่า สีลัต (Silat) หมายถึงศิลปะ รวมความแล้วหมายถึงศิลปะการป้องกันตนเอง กีฬาประเภทนี้เดิมเป็นศิลปะการต่อสู้ของคนเชื้อสายมาลายู ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย คือ ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส และสงขลา เรียกว่า “สิละ” “ดีกา” หรือ “บือดีกา” เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าเท้าเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงาม มีบางท่านกล่าวว่า สิละมีรากคำว่า ศิละ ภาษาสันสกฤต
ทั้งนี้เพราะดินแดนของมลายูในอดีตเคยเป็นดินแดนอาณาจักรศรีวิชัย ที่มีวัฒนธรรมอินเดียเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ จึงมีคำสันสกฤตปรากฏอยู่มาก ประวัติความเป็นมาของปันจักสีลัตนั้น มีตำนานเล่าต่อกันมาหลายตำนาน ซึ่งมีส่วนตรงกันและแตกต่างกันบ้างโดยเฉพาะต้นกำเนิดของกีฬาประเภทนี้ซึ่งเขียนขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่ได้เขียนมา อินโดนีเซียเล่าไปอย่างหนึ่ง มาเลเซียก็เล่าไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป แต่สำหรับครั้งนี้จะขอนำบทความส่วนหนึ่งที่เขียนโดย อาจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องสิละมวยไทยมุสลิม เพื่อเป็นการศึกษาในเรื่องสิละที่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดทางภาคใต้รู้จักกันดี
กีฬาปันจักสีลัตในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ
กีฬาปันจักสีลัตที่มีการแข่งขันในระดับนานาชาติ ในปัจจุบันนี้อยู่ภายใต้กติกาและระเบียบการแข่งขันของสหพันธ์ปันจักสีลัตนานาชาติ ตั้งอยู่ ณ นครจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้จัดให้มีการแข่งขันปันจักสีลัตชิงแชมป์โลกมาแล้ว 7 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่อำเภอหาดใหญ่ ประเทศไทย ปีพ.ศ. 2537 มีนักกีฬาจาก 18 ประเทศเข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ และกีฬาปันจักสีลัตก็ได้รับบรรจุให้มีการแข่งขันเป็นครั้งแรก ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ณ นครจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2530 และได้มีการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในครั้งต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ครั้งล่าสุดในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 20
กีฬาปันจักสีลัตในปัจจุบัน
กีฬาปันจักสีลัตได้เปลี่ยนโครงสร้าง โดยจัดประเภทของการแข่งขันซึ่งเดิมจัดให้มีการแข่งขัน 2 ประเภท ในการแข่งขันชิงแชมป์นานาชาติ และการแข่งขันชิงแชมป์โลก คือ ประเภทการต่อสู้จริง และการแสดงศิลปะการต่อสู้ (เป็นการแสดง) แต่การแข่งขันปันจักสีลัตในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13-18 มีการแข่งขันเพียงประเภทเดียว คือ ประเภทการต่อสู้ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยแยกการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันปันจักสีลัตชิงแชมป์โลก ปี 1997 ณ ประเทศมาเลเซีย และการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ประเทศอินโดนีเซีย จนถึงปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูล การกีฬาแห่งประเทศไทย / กองประชาสัมพันธ์ กกท.