ปักหมุด ‘Pink Power Up Business Forum’ ก้าวแรกของ Pink Economy ปั้นไทยให้ไกลสู่ผู้นำเศรษฐกิจโลก

Home » ปักหมุด ‘Pink Power Up Business Forum’ ก้าวแรกของ Pink Economy ปั้นไทยให้ไกลสู่ผู้นำเศรษฐกิจโลก

ช่วงเดือนมิถุนายนประเทศไทยได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง Pride Month ทั่วประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากเดินทางเข้ามาเพื่อร่วมงาน ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศได้อย่างมาก 

นอกจากนี้หากมองไปที่อุสาหกรรมละครและซีรีย์วาย ของประเทศไทย จะเห็นได้ว่าในช่วงปีหลัง ๆ ที่ผ่านมาได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จากทั้งคนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานว่าซีรีย์วายทำให้อุสาหกรรมภาพยนต์ไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยได้มีการจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นถึง 146.44% รวมถึงรายได้ในธุรกิจภาพยนต์เพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี

สองตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ  ซึ่งอาจกลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายใหม่ของประเทศไทยได้

ดังนั้น การทำธุรกิจที่เน้นลงทุนไปที่กลุ่มผู้บริโภค LGBTQIA2S+ หรือที่เรียกันว่า ‘Pink Economy (เศรษฐกิจสีชมพู)’ ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่จะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจในระดับโลกอย่างแท้จริง

โดยล่าสุด Canvas Ventures International บริษัทร่วมลงทุนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยสู่เวทีโลก เล็งเห็นถึงความสำคัญของ ‘Pink Economy’ จึงได้ประกาศจัดงาน ‘Pink Power Up Business Forum’ ซึ่งถือว่าเป็นงานประชุมแรกในไทยที่เจาะลึกประเด็น Pink Economy อีกด้วย

วันนี้ Sanook จึงได้เชิญ ‘ธนะชัย กุลสมบูรณ์สินธ์’ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Canvas Ventures International มาพูดคุยถึงที่มาของงานประชุมในครั้งนี้ รวมถึงเจาะลึกประเด็น ‘Pink Economy’ ว่าในประเทศไทยว่ามีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง 

 ปักหมุด ‘Pink Power Up Business Forum’ ก้าวแรกของ Pink Economy ปั้นไทยให้ไกลสู่ผู้นำเศรษฐกิจโลก

Pink Economy คืออะไร 

สำหรับความหมายและที่มาของ Pink Economy ธนะชัย เล่าว่า คำว่า ‘Pink’ ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงสงครามนาซีเยอรมัน โดยมาจากการติด ‘Pink Triangle (สามเหลี่ยมสีชมพู)’ ลงบนเสื้อของทหารเยอรมัน เพื่อชี้ว่าทหารคนนี้เป็นเกย์ ซึ่งทำให้ดูกลั่นแกล้งและเจอคำดูถูกมาก ๆ อย่างไรก็ตามในภายหลังสัญลักษณ์ Pink Triangle กลายเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ 

และต่อมาในช่วงปี 1970-1980 นักธุรกิจเริ่มสนใจในการเจาะตลาดและลงทุนกับผู้บริโภคที่เป็น LGBTQIA2S+ มากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ามี ‘กำลังซื้อสูง’ จึงทำให้เรียกการลงทุนลักษณะนี้ว่า Pink Economy ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ทีมข่าว Sanook ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงสาเหตุที่ทำไมนักธุรกิจจึงมีความเชื่อว่าผู้บริโภค LGBTQIA2S+ มีกำลังซื้อที่สูงกว่าผู้บริโภคเพศหญิง เพศชาย พบว่ามาจากการที่ไม่มีลูก ไม่มีภาระทางครอบครัวมากนัก อีกทั้งยังพร้อมใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานมากกว่า จึงทำให้มีการใช้เงินในเรื่องต่าง ๆ มากกว่า

Pink Economy ไม่ได้มีแค่ซีรีย์วาย หรือการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว

เมื่อสอบถามธนะชัยถึงอิทธิพลของ Pink Economy ต่อธุรกิจต่าง ๆ ในไทย ธนะชัยชี้ให้เห็นว่า Pink Economy ไม่เพียงแต่กระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสหกรรมซีรีย์วาย หรือการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลดีต่ออุสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีกด้วย

“ส่วนใหญ่คนจะมองว่า Pink Economy เป็นเรื่อง Entertainment (บันเทิง) หรือ การท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ที่จะเห็นได้เด่นชัดอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของ Healthcare (การดูแลสุขภาพ) เรื่องความงามต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มหลากหลายทางเพศดูแลรักษาตัวเองเป็นอันดับต้น ๆ รวมไปถึงเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศอีกด้วย อีกทั้งยังเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เป็นสัตว์เลี้ยง เพราะส่วนใหญ่กลุ่มหลากหลายทางเพศที่เป็นแฟนกันหรือมีครอบครัวด้วยกัน มักลงทุนในเรื่องของสัตว์เลี้ยง”

นอกจากนี้ ธนะชัย ยังเสริมอีกว่า “จากสมรสเท่าเทียมที่เพิ่งผ่านไป ทำให้ในอนาคตก็จะมีเรื่องของการจัดงานแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA2S+ ได้ด้วย” 

Pink Economy สร้างประเทศไทยให้เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่ามีแรงผลักดันอะไรที่ทำให้เกิดเวทีนี้ ธนะชัย ระบุว่าเนื่องจากหวังให้ประเทศไทยเป็นแหล่งการลงทุนของต่างประเทศมากขึ้น 

“ต้องบอกว่าในตอนนี้ประเทศไทยตกมาหลายขบวนแล้วที่จะเป็นผู้นำในทุก ๆ อย่าง ตั้งแต่เราเป็นเด็กจนมาถึงโต ไม่สามารถไปสู้สิงค์โปร์ได้ เพราะว่าสิงค์โปร์เป็นศูนย์กลางการลงทุนของเอเชีย แต่สิงค์โปร์ก็อาจสู้เราไม่ได้ หากเราเป็นศูนย์กลางการลงทุนของ Pink Money เพราะสิงค์โปร์ก็ไม่ได้เปิด(เรื่องเพศ)มากเท่ากับเรา บวกกับที่ผมเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการสมรสเท่าเทียมด้วย จึงทราบว่าการที่ประเทศไทยมีสมรสเท่าเทียมมันก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยดึงดูดในการลงทุนมากขึ้น สืบเนื่องจาก TCEB (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ) มีเป้าหมายอยากดึง World Pride ให้มาจัดที่กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามการมีแค่ไพร์ดพาเหรด หรือสมรสเท่าเทียม ก็อาจยังไม่มากพอที่จะดึง World Pride มาได้ โดยมีผู้เข้าร่วมจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรีย ประเทศที่เคยจัด World Pride บอกว่าปัจจัยที่สำคัญสำหรับเรื่องนี้เลย คือ เรื่องของเศรษฐกิจ และธุรกิจในประเทศ” 

ธนะชัยยังกล่าวต่ออีกว่า “นอกจาก (Pink Money) จะสร้างเม็ดเงินเศรษฐกิจและการลงทุนแล้ว มันก็สร้างให้คนทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยดีนะ ทำให้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่จะมาเที่ยวที่นี้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าเป็นสังคมที่เป็นมิตรต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถมาเพื่อเศรษฐกิจและการลงทุนได้ด้วยเช่นกัน”

ก้าวแรกของ Pink Economy ในไทย กับงาน “Pink Power Up Business Forum” 

งานนี้จัดขึ้นในวันที่ 27-28 มิ.ย. 2567 ณ  Glowfish Sathorn โดยงานนี้จะมีการอภิปรายในหลากหลายเรื่อง ได้แก่

  • อภิปรายโอกาสทางธุรกิจทั้ง 4 ประเด็น: ไม่ว่าจะ เรื่องดูแลสุขภาพ, ครอบครัว,ความบันเทิงและตลาด, การรวมองค์กร และ Pink FinTech รวมไปถึงเทศกาลและการท่องเที่ยวอีกด้วย
  • การเปิดผลการสำรวจเกี่ยวกับระบบนิเวศ Pink Tech ในประเทศไทย ซึ่งร่วมทำสำรวจนี้กับศูนย์ AI มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผลการศึกษาที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน โดยการสำรวจนี้จะระบุแนวโน้มและโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ธนะชัยชี้ว่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานนี้เลย 
  • Beyond Marriage: เป็นการอภิปรายว่าหากสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว จะมีการส่งเสริมอะไรต่อไป พูดถึงการปฏิรูปนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจของ LGBTQIA2S+ โดยจะมีตัวแทนจากหลากหลายพรรคเข้าร่วมอภิปราย ทั้งดร. สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล จากพรรคก้าวไกล, กังฟู วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคไทยรวมพลัง อีกทั้งยังมีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยและไทยสร้างไทยอีกด้วย 
  • University Pink Tech Challenge: เปิดโอกาสให้น้อง ๆ มหาลัยที่สนใจทำธุรกิจมา Pitching เสนอไอเดีย เพื่อต่อยอดกับนักลงทุนต่อไป ถือเป็นการสร้างทรายเม็ดใหม่ในวงการธุรกิจอีกด้วย
  • โอกาสสร้างเครือข่ายกับผู้ลงทุนอื่น ๆ ที่มีแนวคิดเดียวกัน ร่วมถึงสร้างระบบนิเวศอีกด้วย ผ่านกิจกรรม Networking Party 

 ใครที่สนใจก็สำรองที่นั่งได้ที่: https://www.zipeventapp.com/e/Pink-Power-up-Business-Forum

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ