ปศุสัตว์ราชบุรี เผยเหตุหมูแพง ทั้งโรคระบาด+ต้นทุนพุ่งกว่า 50% ชี้ไตรมาสแรกปีนี้จะเสียหายหนักขึ้นอีก คาดหลัง ก.ค.ราคาจะต่ำลง
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 นายสัตวแพทย์บุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลี้ยงหมูในพื้นที่ราชบุรีว่า จากตัวเลขที่สำรวจผ่านระบบ อี สมาร์ท พลัส ของกรมปศุสัตว์เมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งจะมีการสำรวจปีละ 2 รอบ พบจำนวนหมูแม่พันธุ์ที่ราชบุรีประมาณ 2 แสนตัวเศษ และมีเกษตรกรผู้เลี้ยง 24,000 ราย ถือเป็นจำนวนที่เลี้ยงหมูมากที่สุดในประเทศ
สำรวจแยกเป็นรายอำเภอในข้อมูลของอี สมาร์ท พลัส นั้น เช่น พื้นที่หลักอยู่ที่ อ.ปากท่อ 3,331 ราย มีแม่พันธุ์ 67,405 ตัว รองลงมา อ.จอมบึง มีเกษตรกร 3,006 ราย มีแม่พันธุ์ 65,218 ตัว และรองลงมาที่ อ.โพธาราม 4,356 ราย มีแม่พันธุ์ 32,139 ตัว ซึ่งที่โพธารามจะเป็นผู้เลี้ยงรายกลางถึงรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ หากเป็นรายใหญ่จะอยู่ที่ อ.ปากท่อ และ อ.จอมบึง และ อ.เมือง
นายสัตวแพทย์บุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่ราคาหมูแพง ณ ปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาของโรคระบาด ทั้งโรคเพิร์ส PRRS ที่ทำให้เกิดความเสียหายฝูงแม่พันธุ์และฝูงหมูขุน รวมถึงโรคที่มีการระบาดประปราย อย่างโรคระบบทางเดินอาหารที่ทำให้ลูกหมูมีความเสียหาย เปรียบเทียบเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ของคน โรคจะสะสมในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดความเสียหาย ในวงการหมูก็เช่นเดียวกัน จะมีการวนเวียนประมาณ 4 ปี ถึงเกิดการระบาดรอบหนึ่งและมาตรงกันพอดี ทำให้ความเสียหายค่อนข้างเยอะ
นายสัตวแพทย์บุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับความเสียหายที่ทำให้หมูมีราคาแพงนั้น เริ่มจากกลางปีที่แล้ว แม่พันธุ์ที่มีในระบบเกิดการสูญเสีย ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอยู่ระหว่างใช้โปรแกรมของอี สมาร์ท พลัส ของกรมปศุสัตว์ ลงไปสำรวจอีกครั้งว่ามีแม่พันธุ์สูญเสียไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในข่าวที่ระบุว่าเสียหายไปประมาณ 40-50% นั้น เป็นแค่การประมาณการณ์ ส่วนตัวเลขจริงยังไม่มีใครตอบได้ จึงต้องลงไปสำรวจพื้นที่จริง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์
นายสัตวแพทย์บุรินทร์ กล่าวต่อว่า จากการสอบถามเกษตรกรเบื้องต้น ความเสียหายน่าจะอยู่ที่ 10-20% แต่เกิดปัญหาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วและสะสมมาเรื่อยๆ จากจำนวนแม่พันธุ์ 2 แสนตัวเศษ เสียหายไปประมาณ 4 หมื่นตัว และคาดว่าจะเสียหายหนักขึ้นอีกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ประมาณเดือน ก.พ. – มี.ค.
นายสัตวแพทย์บุรินทร์ กล่าวอีกว่า ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการชดเชยให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อคัดเลือกหาแม่พันธุ์มาเลี้ยงใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือนกว่าจะพร้อมที่จะมาขยายพันธุ์ต่อ คาดว่าอีก 5 เดือน ลูกหมูจะเข้าสู่ระบบตลาดได้ อย่างช้าสุดคือหลังกลางปีไปแล้ว จำนวนหมูจะเพิ่มมากขึ้น และเพียงพอต่อการบริโภค หากผ่านพ้นช่วงเดือน ก.ค.ไป ผลผลิตชุดใหม่น่าจะเริ่มออกมาทดแทน คาดว่าราคาหมูที่มีชีวิตจะเหลือประมาณกิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนที่เขียงตลาดจะเหลืออยู่ประมาณ 150-160 บาท
สำหรับต้นทุนการผลิตหมู ขณะนี้ลูกหมูมีราคาขายประมาณ 3,200 บาทต่อ 16 กิโลกรัม และอาจมีการบวกเพิ่มตามต้นทุนวัตถุดิบหรืออาหารที่เลี้ยงหมู เช่น รำ ปลายข้าว ข้าวโพด ซึ่งมีราคาแพงมาก เนื่องด้วยสภาวะอากาศ รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ ที่ต้องนำมาผสมให้หมูกิน เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง มีการขึ้นราคาไม่ต่ำกว่า 40-50% ประกอบกับระบบการจัดการการควบคุม เช่น ปัญหาโควิด -19 ทำให้เกิดผลกระทบกับการเลี้ยงหมูสูงมาก เพราะต้องสั่งห้ามไม่ให้คนเลี้ยงออกจากฟาร์ม