-
การรักษาโรคปวดหลังนั้น แพทย์มักจะเริ่มด้วยการให้รับประทานยาลดปวดตามอาการ การพักหรือลดการใช้งาน การทำกายภาพบำบัด ไปจนถึงการฉีดยาระงับปวด แต่หากอาการไม่ดีขึ้น และมีข้อบ่งชี้ แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัด
-
การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีการพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคนิคการผ่าตัด การควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัด ไปจนถึงการฟื้นฟูด้วยกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด ทำให้ผลสำเร็จจากการผ่าตัดสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต
-
เทคโนโลยีการผ่าตัดแบบแผลเล็กเจ็บน้อย (Minimal Invasive Surgery: MIS) เป็นเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่มีการเสียเลือดน้อยลง เจ็บแผลน้อยลง และการฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วมากขึ้น
การรักษาโรคปวดหลังนั้น เป็นไปตามสาเหตุของอาการปวดและการวินิจฉัย เมื่อมีอาการปวดหลังทั่วไป ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้น เช่น การพักหรือลดการใช้งานกระดูกสันหลัง การควบคุมอาการปวดด้วยยาแก้ปวดตามอาการ การทำกายภาพพื้นฐานเบื้องต้น เช่น การประคบร้อน และยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด
การรักษาอาการปวดหลัง
อย่างไรก็ตาม หลังจากการดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดหลังที่มีสัญญาณเตือนในทางที่ไม่ดี (Red Flag Signs) ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาโรคปวดหลังแบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เพื่อลดอาการปวดเป็นหลัก (Pain Management) ได้แก่
- การรักษาด้วยยา ยาที่เหมาะสม ได้แก่ ยาลดอาการปวดและการอักเสบของกล้ามเนื้อ (NSAIDS) ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาสำหรับลดอาการปวดจากปลายประสาท อย่างไรก็ดี การให้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ใช้ยาชนิดอื่นๆ อยู่เป็นประจำ ควรคำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรับประทานกลุ่มยาแก้ปวดด้วย
- การทำกายภาพบำบัด เป็นหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการรักษาโรคปวดหลังแบบไม่ผ่าตัด เช่น การประคบร้อน การทำ Ultrasound, Laser, Shockwave Therapy, การบริหารกล้ามเนื้อที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดหลังในอนาคต (ดูข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ครบวงจร โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู พร้อมทีมนักกายภาพบำบัดที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์)
- การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหลัง (Back Support or Brace) การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังสำหรับอาการปวดหลัง มักมีประโยชน์ในระยะสั้น สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายมากขึ้น อาการปวดลดลง นอกจากนี้ ยังสามารถใช้สำหรับพยุงหลังในผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระดูกสันหลังได้อีกด้วย
-
การทำหัตถการบริเวณกระดูกสันหลัง เช่น การฝังเข็ม การฉีดยาบล็อกกล้ามเนื้อ (Trigger Point) การฉีดยาบล็อกข้อต่อ Facet การฉีดยาเข้าโพรงเส้นประสาท (Epidural Steroid Injection) โดยประโยชน์ของการทำหัตถการ คือ ลดอาการปวด และช่วยยืนยันการวินิจฉัย
ซึ่งการทำหัตถการต่างๆ เหล่านี้ เป็นการรักษาโรคปวดหลังแบบไม่ผ่าตัดที่ได้ผลดี มีความเสี่ยงน้อย (สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษากับแพทย์เฉพาะทางได้ที่ ศูนย์กระดูก ข้อ กระดูกสันหลัง และการแพทย์กีฬา) - แพทย์ทางเลือก เช่น Chiropractor เป็นการปรับสมดุลของกระดูกสันหลังเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น การเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังและลดอาการปวด หรือ การฝังเข็ม การนวดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
2. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาอาการปวดหลังด้วยวิธีการผ่าตัด อาจพิจารณาผ่าตัดในผู้ป่วยที่อาการไม่ทุเลาจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัดเป็นเวลาอย่างน้อย 6-12 สัปดาห์ หรือในผู้ป่วยที่มีการทำงานของเส้นประสาทที่เสียไป เช่น กล้ามเนื้อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดควบคุมการขับถ่ายเสียไป
ทางเลือกในการรักษาแบบผ่าตัด
การพิจารณาทางเลือกในการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย โดยทั่วไปแบ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
1. การผ่าตัดเพื่อระบายโพรงเส้นประสาท
เป็นการผ่าตัดเพื่อระบาย (Decompress) เส้นประสาทที่ถูกกดทับ โดยการผ่าตัดนำสิ่งที่กดทับเส้นประสาทออกจากสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบลง (Spinal Stenosis) เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Disc Herniation) ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ เป็นการผ่าตัดแบบไม่ต้องใส่เหล็กเพื่อยึดกระดูกสันหลัง หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังปล้องนั้นๆ ได้ตามปกติ
2. การผ่าตัดเพื่อระบายโพรงเส้นประสาทและเชื่อมข้อ (Nerve Decompression and Fusion)
เป็นการผ่าตัดเพื่อระบาย (Decompress) เส้นประสาทที่ถูกกดทับและใส่เหล็กเชื่อมข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกัน การผ่าตัดวิธีนี้ เป็นการผ่าตัดที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังจากโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) และมีความไม่มั่นคง (Instability) ของกระดูกสันหลังปล้องนั้นๆ ร่วมด้วย เช่น มีความผิดรูปของกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังเคลื่อน หลังคด หรือหลังโก่งผิดรูป เป็นต้น
“การผ่าตัดกระดูกสันหลัง หรือกระดูกต้นคอ นั้นน่ากลัว”
“อย่าไปผ่าตัด ผ่าไปก็ไม่หาย หรือ ผ่าแล้วจะเดินไม่ได้”
หลายๆ คน คงเคยได้ยินเพื่อนๆ หรือคนรู้จักพูดประโยคเหล่านี้ แต่ปัจจุบันการผ่าตัดกระดูกสันหลังหรือกระดูกต้นคอนั้น ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังไปมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคนิคการผ่าตัด การพัฒนาการควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัด ไปจนถึงการฟื้นฟูหลังผ่าตัดด้วยกายภาพบำบัด ทำให้สามารถลดความเสี่ยง และเพิ่มผลสำเร็จจากการผ่าตัดได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการผ่าตัดในอดีต ทั้งนี้ สามารถแบ่งได้เป็น การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบดั้งเดิม และ เทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังรูปแบบใหม่ (แบบแผลเล็ก) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบดั้งเดิม (Conventional Spine Surgery)
การผ่าตัดระบายโพรงเส้นประสาทและใส่เหล็กเชื่อมข้อ (Nerve Decompression and Fusion)
การผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อระบายโพรงเส้นประสาทและเชื่อมข้อ (Decompressive lumbar Laminectomy with Posterolateral Spinal Fusion – DLPL Fusion)
2. เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery)
เป็นเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังสมัยใหม่รูปแบบหนึ่ง ซึ่งข้อดีของเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก คือ เป็นการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่มีการรบกวนหรือทำลายกล้ามเนื้อบริเวณหลังน้อยกว่าการผ่าตัดแบบปกติ เสียเลือดน้อยลง เจ็บแผลผ่าตัดน้อยลง และการฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วมากขึ้น ตัวอย่างของการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ได้แก่
2.1 การผ่าตัดเพื่อระบายโพรงเส้นประสาท (Nerve Decompression)
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีส่องกล้อง (Full-Endoscopic lumbar Discectomy – FED)
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังแบบใช้กล้องขยาย (Microscopic Lumbar Microdiscectomy)
2.2 การผ่าตัดระบายโพรงเส้นประสาทและใส่เหล็กเชื่อมข้อ (Nerve Decompression and Fusion)
- การผ่าตัดเชื่อมข้อทางด้านหลังแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Transforaminal Lumbar Interbody fusion – MIS TLIF) เป็นการผ่าตัดระบายโพรงเส้นประสาทและใส่เหล็กเชื่อมข้อแบบแผลเล็ก ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ ทำให้ขนาดแผลเล็ก ลดการทำลายกล้ามเนื้อบริเวณหลัง จากการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล
- การผ่าตัดเชื่อมข้อโดยผ่าตัดผ่านทางกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Anterior Lumbar Interbody Fusion – ALIF)
- การผ่าตัดเชื่อมข้อผ่านด้านข้างของท้อง (Lateral Lumbar Interbody Fusion – LLIF)
3. การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยระบบนำทาง (Navigation and Robot Assisted Spine Surgery)
เป็นเทคนิคการผ่าตัดสมัยใหม่ที่มีการนำระบบนำทางคอมพิวเตอร์ (Navigation system) มาช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง มีข้อดี คือ ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการใส่เหล็กหรืออุปกรณ์ต่างๆ บริเวณกระดูกสันหลังหรือกระดูกต้นคอ ลดโอกาสการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทบริเวณที่ผ่าตัด
การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด
ความสามารถในการฟื้นตัวหลังผ่าตัดของผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยส่วนตัวผู้ป่วย (Patient Factors) เช่น โรคประจำตัว ความรุนแรงของอาการ ความสามารถในการทำกิจกรรม หรือกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ปัจจัยในส่วนของแพทย์ที่ทำการผ่าตัด (Doctor Factors) เช่น เทคนิคการผ่าตัด ความชำนาญ
การดูแลหลังการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยทั่วไป ได้แก่
การควบคุมอาการปวดหลังผ่าตัดโดยวิสัญญีแพทย์ (Pain Management by Anesthesiology)
การทำกายภาพบำบัด
ความสามารถของผู้ป่วย ให้พร้อมกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น การฝึกการเคลื่อนไหว เปลี่ยนอิริยาบถด้วยวิธีที่ถูกต้อง การฝึกเพิ่มความยืนหยุ่น (Stretching) ฝึกความแข็งแรง (Strengthening) กล้ามเนื้อหลังและขา รวมถึงการฝึกการเปลี่ยนท่าทางในชีวิตประจำวัน เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุหรือล้มหลังการผ่าตัด
การยืดกล้ามเนื้อน่องโดยนักกายภาพบำบัด
จับบริเวณข้อเท้า และใช้แขนดันให้ข้อเท้ากระดกขึ้นเบาๆ ผู้ป่วยรู้สึกแค่ตึง ไม่เจ็บ ยืดค้างไว้10 วินาที ทำซ้ำ10 ครั้ง
ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว
ผู้ป่วยนอนหงาย ชันเข่า 2 ข้าง เกร็งหน้าท้องลักษณะเหมือนดึงสะดือเข้าด้านในช่องท้อง กดหลังลงติดเตียง พร้อมกับขมิบก้น ค้างไว้ 5-10 วินาที ทำซ้ำ10-20 ครั้ง
ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อเข่า
ผู้ป่วยนอนหงาย เกร็งเข่ากดลง อาจใช้มือนักกายภาพบำบัดหรือหมอนรองใต้เข่า แล้วกดลงค้างไว้ 5-10 วินาที ทำซ้ำ 10-20 ครั้ง
วิธีการพลิกตะแคงตัวหลังผ่าตัด
ผู้ป่วยชันเข่าด้านตรงข้าม แล้วพลิกตะแคง โดยพลิกทั้งตัวพร้อมกันไม่บิดตัว ลักษณะเหมือนท่อนไม้ log rolling นักกายภาพบำบัดช่วยพยุงบริเวณสะบักและสะโพก
การฝึกลุกจากท่านั่งไปท่ายืน
โดยใช้ walker ช่วยประคองมือ 2 ข้างกด walker หลังตรง เท้า 2 ข้างวางห่างกันพอสมควร ถ่ายน้ำหนักมาที่เท้า 2 ข้าง เกร็งเข่าและสะโพกเพื่อยืดตัวตรงขึ้น โดยไม่ก้มหลัง
การฝึกเดิน
ขณะก้าวเดิน มือ 2 ข้าง กด walker ก้าวเท้าทีละก้าวไปใน walker กดน้ำหนักลงที่มือ 2 ข้างเพื่อประคองตัว เมื่อทรงตัวได้ดีขึ้น จึงค่อยๆ กด walker น้อยลง
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย สิ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากเรื่องของอาการ ระดับความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยเป็นแล้ว สิ่งอื่นที่ต้องนำมาพิจารณา ได้แก่ อายุ โรคประจำตัว ระดับความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ระยะเวลาการดูแลเพื่อฟื้นฟูหลังผ่าตัดเพื่อกลับไปสู่ชีวิตประจำวันในผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย และเพื่อให้การผ่าตัดได้ผลดีที่สุด จึงแนะนำให้ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์เฉพาะทางกระดูกสันหลัง เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด