ปลัด สธ.แจงเชิญ กทม. ร่วมหารือรับมือ “โควิด” เป็นเรื่องปกติ มีการประสานแล้ว จ่อทบทวนวางแผนร่วมกัน ทั้งการควบคุมป้องกันโรคและรักษา กระจายยาให้เหมาะสม ไม่ขาดแคลน
ส่วนจะเพิ่มมาตรการ ลดละเลิกกิจกรรมใดหรือไม่ ขอให้หารือก่อน ย้ำผู้ติดเชื้อไม่ต้องรับยาต้านไวรัสทุกราย อาการสีเขียวรักษาตามอาการ อาการสีเหลืองขึ้นไปให้แพทย์พิจารณาการจ่ายยา
18 ก.ค. 65 – นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเชิญ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หารือเรื่องการรับมือการระบาดโควิด 19 ว่า กทม.ยังมีตัวผู้ป่วยมีอาการเข้ารักษาใน รพ.เป็นหลักพันต่อวัน ส่วนต่างจังหวัดอยู่ที่หลักสิบ บางจังหวัดก็ไม่มี
การหารือก็เป็นเรื่องปกติ เพราะ สธ.ต้องรับผิดชอบดูแลระบบสาธารณสุข ขณะที่ กทม.มีระบบดูแลรักษาของตัวเอง ซึ่งเราหารือกันมาตั้งแต่ปีที่แล้วตั้งแต่การระบาดของเดลตาทำให้ต้องการเตียงสูง สธ.ก็สนับสนุนมาจัดตั้ง รพ.บุษราคัม จึงอยากมาวางแผนร่วมกัน ซึ่งจะเน้นเรื่องการควบคุมป้องกันโรคและการรักษาพยาบาล
ถามว่าจะมีการเสนอให้ กทม.ลดกิจกรรมเสี่ยงใดบ้าง นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ก็ต้องหารือกันก่อน เราคุยกันหมด ทั้งเรื่องวัคซีน ประสิทธิภาพวัคซีน และการขนส่งวัคซีน ซึ่ง กทม.เป็นพื้นที่ที่ฉีดมากกว่า 100% แต่เมื่อยังมีการติดเชื้อก็ต้องมาหารือเรื่องต่างๆ เราอยากช่วยกัน
นอกจากนี้ ยังหารือเรื่องการควบคุมโรค การรักษา ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายดูแลฟรี สธ.จึงเป็นผู้ซื้อยาต้านไวรัสและสนับสนุนให้กับ รพ.ต่างๆ ซึ่งใน กทม.มีโรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชน รพ.สังกัด กทม. ก็จะได้รับยาจาก สธ.และนำไปใช้ เราก็ต้องทบทวนกันอีกที เพราะไม่อยากให้เกิดการขาดแคลนยา มีการกระจายยาอย่างเหมาะสม แต่เราก็ไม่ได้มีเหลือเฟือที่จะกระจายทุกที่ทุกแห่ง
สธ.ก็มี รพ.ที่ต้องดูแลอีกเป็นพันแห่ง จึงต้องลองมาทบทวน เราไม่ได้พูดคุยกันมานานเนื่องจากเสร็จศึก เพราะสถานการณ์เบาลง แต่ขณะนี้ขึ้นมาก็เป็นเรื่องปกติในการหารือ ซึ่งบางครั้งตนก็ไปหารือที่ กทม. เที่ยวนี้ก็เชิญมาซึ่งที่นี่เรามีข้อมูลต่างๆ
“สธ.พยายามให้คนเข้าถึงยามากขึ้น แต่ต้องอธิบายผู้ป่วยด้วยว่า แม้จะติดเชื้อโควิดก็ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัสทุกคน ถ้าอาการน้อยสีเขียวดูแลรักษาตนเอง หรือรับยาตามอาการ ถ้ามีอาการสีเหลืองขึ้นไปอยู่ในดุลยพินิจแพทย์ในการให้ยาต้านไวรัส ก็มีทั้งฟาวิพิราเวียร์ โมลูนพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด นอกจากนี้ จะมีแอนติบอดี LAAB จะมาถึงสัปดาห์หน้าด้วย ก็ต้องหารือกับทาง กทม. เพราะเราต้องสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ก็ต้องหารือกัน” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การรายงานผลโควิดเราพิจารณาแล้ว ซึ่งบอกตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.แล้วว่า เราจะเน้นผู้ป่วยที่มีอาการหนักเข้า รักษาใน รพ. และผู้เสียชีวิต ซึ่งบางคนที่ตรวจแล้วติดเชื้อไม่มีอาการก็ดูแลตนเองที่บ้าน ไม่ได้เข้าระบบ บางคนก็เข้าระบบผู้ป่วยนอก แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอาการหนัก
ส่วนที่รายงานป่วยใหม่วันละ 2 พันราย ก็มีหายป่วยออกมาไปประมาณ 2 พันรายเช่นกัน อาจดูขึ้นเล็กน้อย แต่ตัวเลขยังสมดุล เตียงก็มีการเตรียมให้พอเพียง เราได้รับรายงานว่า BA.4/BA.5 ก็อาจจะมีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ก้ต้องหารือกับทาง กทม.เป็นเรื่องปกติ ซึ่งมาตรการต่างๆ นั้นก็ขอให้ได้หารือกันก่อน
ถามถึงกรณีโฆษก กทม.ระบุว่ายังไม่ได้รับหนังสือเชิญ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ตรงนี้ก็มีการประสานงานกันในช่วงวันหยุด ซึ่งการทำงานไม่มีวันหยุด แต่ช่วงนั้นตนเดินทางไปต่างประเทศ ก็คุยทีมงานว่าอยากหารือก็มีการประสานงานกันเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ หนังสือก็มีการดำเนินการภายหลัง
เมื่อถามว่า ขณะนี้เริ่มมีกลุ่มจิตอาสาออกมาบอกว่า กลุ่ม 608 เข้าไม่ถึงการรักษา นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ต้องช่วยกัน กลุ่ม 608 นั้น เรามีงานวิจัยว่า เราฉีดวัคซีนโควิด 19 ไป 140 ล้านเข็ม ป้องกันคนเสียชีวิตเกือบ 5 แสนคน การฉีดเข็มกระตุ้นจึงมีประโยชน์มาก กลุ่ม 608 เป็นกลุ่มเสียชีวิตในการรายงานทุกวัน
เราอยากให้เข้าถึงวัคซีน ขอความร่วมมือลูกหลานพามาฉีดวัคซีนที่มีความปลอดภัย อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย อย่าคิดว่า เรามีความเสี่ยง เนื่องจากผู้สูงอายุเมื่อติดเชื้อมักมีอาการค่อนข้างรุนแรง เชื้อโรคเรามองไม่เห็น ถ้าระวังไม่เพียงพอ ลูกหลานมาเยี่ยม การอยู่ใกล้ชิด โอบกอด ก็เป็นวัฒนธรรมของเรา ก็มีโอกาสติดเชื้อ แต่ไม่รู้ตัว ก็อยากให้มาสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แม้เราจะมียารักษาโรคที่ดี แต่ไม่อยากให้ติด
ถามว่า กลุ่ม 608 ติดเชื้อจำเป็นต้องเข้ารักษาใน รพ.หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ตรงนี้มีเกณฑ์ของกรมการแพทย์