ปลัดมท.-นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงนครสวรรค์ มอบรถวีลแชร์โครงการรถเข็นนั่ง ปันสุข 

Home » ปลัดมท.-นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงนครสวรรค์ มอบรถวีลแชร์โครงการรถเข็นนั่ง ปันสุข 



ปลัดมท.-นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงนครสวรรค์ มอบรถวีลแชร์โครงการรถเข็นนั่ง ปันสุข เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯ ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย แก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 21 เม.ย.66 ที่หอประชุมเจ้าพระยา วิริยาลัยเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบรถวีลแชร์ โครงการ “รถเข็นนั่ง ปันสุข” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯ โดยมี นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวสนธยา บุญยภูษิต รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ทันตแพทย์หญิงศิริรัตน์ ศิริมาศ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ นางสาวชุติพร สีชัง นายจุมพฎ วรรณฉัตรสิริ นางพรเพชร เขมวิรัตน์ นางชุมพิชญ์ เดชะรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา พลตรี สาธร ศิริยานนท์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31 หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารหน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชน และประชาชนจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้มาเป็นประธานในพิธีมอบรถวีลแชร์ โครงการ “รถเข็นนั่ง ปันสุข” และได้มาช่วยกันทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเพราะว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ ได้ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการมอบวีลแชร์ให้กับผู้ยากไร้ มากกว่า 503 คน การทำความดีของท่านทั้งสองนับเป็นความหวังให้กับสมาคมแม่บ้านมหาดไทยในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระชนมพรรษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ให้เกิดผลความสำเร็จ และทำให้คนที่ไม่สามารถเคลื่อนไหว ได้มีโอกาสออกจากบ้านไปที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก ได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ ได้ไปทำบุญเข้าวัด ได้มีโอกาสทำความดีให้กับสังคมและประเทศชาติ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยขอชื่นชมและขออนุโมทนา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์และชาวจังหวัดนครสวรรค์ ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพวกเราทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งในปี 2566 นี้ กระทรวงมหาดไทยสถาปนาครบรอบ 131 ปี ซึ่งตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูปการปกครองเพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นปึกแผ่น และไม่ให้ประเทศไทยเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ซึ่งในอดีตนั้นประเทศไทยมีการปกครองแบบหัวเมืองประเทศราช ในปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทำการปฏิรูปการปกครอง เป็นกระทรวง ทบวง กรม ขึ้น เกิดเป็นหน่วยงานรัฐที่มีความรับผิดชอบที่แตกต่างกันออกไป ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินเป็นโครงสร้างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงมีพระคุณอันประเสริฐยิ่ง ผู้มีวิสัยทัศน์เล็งเห็น ว่าลักษณะของผู้คนสยามประเทศต้องมีการจัดสรรแบ่งอำนาจในการที่จะทำให้ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยกัน”บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ดูแลผู้คนในระดับท้องที่ร่วมกัน เป็นการบริหารระบบราชการที่แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจึงเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของชนชาติตะวันตก เป็นความภาคภูมิใจของประชาชนชาวไทย ดังนั้น การเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีนัยยะสำคัญว่า เราต้องตั้งใจดูแลทุกข์สุขและให้ความเป็นธรรมให้แก่พี่น้องประชาชน ยึดหลักการดูแลตามระเบียบราชการแผ่นดิน ต้องเป็นโซ่ข้อกลางให้ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ในการช่วยกันทำให้สิ่งที่เป็นปัญหาได้รับการแก้ไข และทำสิ่งที่ไม่มีคุณภาพให้ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“จังหวัดนครสวรรค์มีความโชคดีที่ได้ท่านชยันต์ ศิริมาศ มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และผมก็รู้สึกดีใจที่ท่านดูแลคนนครสวรรค์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการจัดหารถวีลแชร์ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ไม่ทิ้งคนที่ด้อยโอกาสกว่าพวกเรา ให้ได้มีโอกาสทำสิ่งที่ดีให้กับครอบครัวและชุมชน ได้ทำให้ผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยให้มีที่อยู่อาศัย โดยใช้งบประมาณที่มาจากผู้ใจบุญและผู้มีจิตศรัทธาในจังหวัดนครสวรรค์กว่า 50 ล้านบาท สร้างบ้านจำนวน 432 หลัง และจัดหาวีลแชร์ให้กับผู้ยากไร้ในวันนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่ช่วยคนกว่า 503 คน ทำให้ครอบครัวและคนรอบ ๆ ได้รับประโยชน์ด้วย ให้ครอบครัวได้มีโอกาสพาผู้สูงอายุไปทำบุญตักบาตร ได้ไปเยี่ยมเยียนลูกหลาน ได้ไปดูต้นไม้ใบหญ้าในที่ต่าง ๆ นับเป็นคุณประโยชน์ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และเป็นคุณประเสริฐอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนจังหวัดนครสวรรค์นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่อยากจะเห็นและต้องทำให้เกิดขึ้น ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาโดยตลอด ประการแรกคือ การเป็นผู้นำท่านที่เป็นผู้นำในพื้นที่เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีประจำจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกรัฐมนตรีประจำอำเภอ คือ นายอำเภอ ขอให้ท่านช่วยเป็นผู้นำในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยช่วยกันทำในสิ่งที่ดี และขยายผลสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชน ประการที่ 2 คือ เป้าหมายการบำบัดทุกข์บำรุงสุขตามที่ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ดำเนินโครงการอำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน นั่นหมายถึงอำเภอต้องรับเป็นธุระของงานทุกกระทรวง ทบวง กรม แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน คือต้องไม่ทำคนเดียว ต้องทำร่วมกันทุกภาคีเครือข่าย ต้องทำจริงไม่สุกเอาเผากิน และต้องคิดเสมอว่าเป้าหมายที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้โดย Change Agent ไปสู่พี่น้องประชาชน คือผู้นำต้องทำก่อน เริ่มตั้งแต่ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ให้ได้มีโอกาสร่วมกันคิด ร่วมกันพูดคุย และอาจทำเป็นประจำก็จะนำไปสู่การลงมือทำ คือ มีการร่วมแรงร่วมใจกันและสุดท้ายจะได้ร่วมรับประโยชน์ร่วมกัน โดยอาศัยหลักการทำงานรองเท้าศึกก่อนกางเกงขาดของกรมพระยาดำรงราชานุภาพด้วยการรื้อฟื้นภูมิสังคม การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวเป็นชุมชน ซึ่งที่กล่าวมาต้องอาศัยแรงปรารถนา (Passion) ความมุ่งมั่นของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อน การพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs 17 เป้าหมาย ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งมีต้นแบบตัวอย่างความยั่งยืน คือ ตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ที่เป็นตัวอย่างของหมู่บ้านยั่งยืน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีความมั่นคงทางอาหาร โดยน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ให้ชุมชนและหมู่บ้านมีคลังอาหาร และ”ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ซึ่งเป็นคลังอาหารสาธารณะ โดยมีหน่วยทหารพัฒนาและทหารพันธุ์ดี ที่ทำให้ทุกพื้นที่มีพืชผักผลไม้ มีสมุนไพร มีพืชผักสวนครัว โดยต้องฝากให้นายอำเภอทำให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ให้ได้ เปิดการตระหนักรู้ ตื่นรู้ ทำให้ประชาชนรู้ และมาร่วมกันทำร่วมกันรับประโยชน์ นอกจากนี้ ยังต้องถึงส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี เริ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิด ทำให้เด็กมีอาหารการกินที่ดี และต่อมาคือการมีที่อยู่อาศัยที่ดี มีความมั่นคงแข็งแรง ถูกสุขลักษณะ ซึ่งโครงการมอบบ้าน และมอบรถวีลแชร์นั้นเปรียบเสมือนยาฝรั่ง ที่การแก้ไขปัญหาอย่างทันที ด้วยการมอบสิ่งของมอบเงินช่วยเหลือ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นยาไทย ที่ต้องใช้เวลาในการรักษาให้หาย คือการปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างอาชีพเสริม ที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้สร้างอาชีพ ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ยาไทยที่กล่าวมานั้นต้องอาศัยผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำ ร่วมกัน ทุกภาคส่วน ไปร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้จริงที่เป็นยาไทยนั้นเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ประกอบกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการคัดแยกขยะ การนำขยะมา Recycle ซึ่งหมู่บ้านตัวอย่างที่ตำบลของธนู มีการสอนให้ชาวบ้านคัดแยกขยะขาย มีการจัดตั้งอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) โดยมีชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัคร มาร่วมกันคัดแยกขยะขาย ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำให้เกิดขึ้นทุกครัวเรือนในชุมชน ต่อยอดไปจนเป็น “ตลาดนัดถังขยะทองคำ” เกิดเป็นกองทุนสวัสดิการในการพัฒนาชุมชน ด้วยการเปลี่ยนขยะเป็นมูลค่าช่วยให้บ้านเมืองสะอาด หยุดยั้ง Climate change ช่วยลดโลกร้อน อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดได้ในทุกครัวเรือน นายอำเภอต้องช่วยทำให้เกิดขึ้นนั่นคือความรักความสามัคคีที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ที่มาร่วมกันคิดร่วมกันทำทำให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทำให้ทุกคนมามีส่วนร่วม ความปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ร่วมกันเป็นหูเป็นตา ทำให้ยาเสพติด หมดไปจากพื้นที่และชุมชน นอกจากนี้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษต้องสืบทอดไปยังลูกหลาน ด้วยการให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในระบบ คือ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ไปช่วยกันเชิญชวนไปพูดคุยกับชาวบ้าน พูดคุยกับเด็กเยาวชน ให้มาร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน ในส่วนของนอกระบบ คือผู้ปกครองและครอบครัว ต้องสร้างเสริมการประกวดอาชีพให้แก่เด็กสอนให้เด็กเลี้ยงตนเองได้ พบปะพูดคุยกับญาติพี่น้อง ให้มีปฏิสัมพันธ์ มีสัมมาคารวะ เป็นที่รักเป็นที่น่าเอ็นดู นอกจากนี้ การให้วัด หรือพระพุทธศาสนาที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย ได้มาดูแล โดยอาศัยหลักธรรมคำสอน หลักอิทธิบาท 4 หัวใจนักปราชญ์สุจิปุลิ พรหมวิหาร 4 ทำให้ผู้คนครองตนอย่างเหมาะสม เป็นสามีภรรยาที่ดีมีความสุขความเจริญ พระพุทธศาสนาจึงเป็นส่วนสำคัญในการจรรโลงคนในสังคม ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นยาไทยที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ยาวนาน แม้ว่ายาไทยจะมีรสชาติขม และต้องใช้เวลา ต้องใช้ความพยายามทำให้เกิดขึ้น จึงต้องอาศัยใจอาศัยกายของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ซึ่งเป็นผู้นำของพื้นที่ ซึ่งในวันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้แสดงออกถึงจิตใจที่แน่วแน่ มีจิตใจปฏิบัติบูชา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

“ผมเองมีความสุขและขออนุโมทนาพวกเราทุกคนที่ได้ช่วยกัน สังคมสงเคราะห์ ผู้ยากไร้ผู้ด้อยโอกาส ด้วยการสร้างที่พักที่อยู่อาศัย ให้การศึกษา ตลอดจนการจัดหารถวีลแชร์ ขอให้ทุกคนช่วยกัน เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้ปฏิบัติ และช่วยกันสนองพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ สืบสาน รักษาและต่อยอด ครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร ท้ายนี้ สิ่งที่ดีในวันนี้จะเป็นต้นแบบให้พวกเรายึดถือปฏิบัติ เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยกันทำงานช่วยการปฏิบัติบูชา Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ