'ปลัดทส.' ยกระดับแก้ปัญหาที่ดินทำกินป่าสงวนฯ 7 ตำบล จ.เชียงใหม่

Home » 'ปลัดทส.' ยกระดับแก้ปัญหาที่ดินทำกินป่าสงวนฯ 7 ตำบล จ.เชียงใหม่


'ปลัดทส.' ยกระดับแก้ปัญหาที่ดินทำกินป่าสงวนฯ 7 ตำบล จ.เชียงใหม่

“ปลัดจตุพร” สั่งยกระดับแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กำชับดำเนินการตามแผนจัดการที่ดินและป่าไม้ ใน 7 ตำบล 14 หมู่บ้าน จ.เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่องค์การบริหารส่วนตำบลกองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานการประชุม ได้เร่งรัดและมอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมมอบ “แผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่” 7 ตำบล ใน อ.แม่แจ่ม ได้แก่ ต.กองแขก ต.ท่าผา ต.ช่างเคิ้ง ต.บ้านทับ ต.แม่นาจร ต.แม่ศึก และต.ปางหินฝน จำนวน 14 หมู่บ้าน พร้อมเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ประชาชนที่เดือนร้อนโดยด่วน

โดยมีกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่แจ่ม องค์การบริหารส่วนตำบล 7 ตำบล มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิไทยรักษ์ป่า มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย(TOF) และบริษัท เชียงใหม่ วนัสนันท์ จำกัด ร่วมหารือและกำหนดแนวทางร่วมกัน

นายจตุพร กล่าวหลังประชุมและมอบนโยบายว่า ทส.ได้ให้ความสำคัญและเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทำกินของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของ ทส. สำหรับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้เสนอคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติเห็นชอบแล้ว หากต้องเร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้ออกหลักฐานการอนุญาต ตามแนวทางมาตรการบริหารจัดการที่ดินที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กำหนด

ทั้งนี้ ตนได้มอบ “แผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่” ใน 7 ตำบล เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามนโยบาย คทช. อย่างไรก็ตาม ทส.จะได้เร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินงานจัดที่ดินทำกินและอยู่อาศัยให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน อนึ่ง การแก้ไขปัญหาพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินนอกจากเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งประเด็นดังกล่าวนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้เน้นย้ำให้ยกระดับการดำเนินงานตรวจสอบ รังวัด และออกหลักฐานการอนุญาตโดยเร็ว อีกทั้ง ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมบูรณาการตามแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ด้วย

สุดท้าย ขอย้ำกับพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้รับเอกสารการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวน ทส. จะกำกับเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการโดยด่วน เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งตนได้กำชับหน่วยงานให้รายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง หากเกิดปัญหาจะได้เร่งประสานและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ต่อไป

ด้านนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว่า กรมป่าไม้ได้ดำเนินการจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2558 โดยเสนอคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติให้ความเห็นชอบแล้วกว่า 3.67 ล้านไร่ จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินการออกใบอนุญาตแล้ว 257 ฉบับ เนื้อที่กว่า 1.20 ล้านไร่ อยู่ระหว่างการออกใบอนุญาตอีก 408 ฉบับ เนื้อที่ 2.47 ล้านไร่ เนื่องจากต้องตรวจสอบและรวบรวมเอกสารเพิ่มเติม สำหรับจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เป้าหมายในเขตลุ่มน้ำชั้น 3, 4 และ 5 จำนวน 196,965 ไร่ ออกใบอนุญาตแล้ว 19 ฉบับ เนื้อที่ 126,816 ไร่ อยู่ระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาต 6 ฉบับ เนื้อที่ 56,445 ไร่ สำหรับพื้นที่แม่แจ่มได้ดำเนินการจัดที่ดินให้แล้วจำนวน 24,196 ไร่

กรมป่าไม้ได้จัดทำข้อมูลในรูปแบบระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) นำไปตรวจสอบกับร่องรอยการทำประโยชน์ในภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 และปี 2557 สามารถจัดทำข้อมูล GIS การครอบครองที่ดินได้ครบถ้วนทั้ง 100 หมู่บ้าน โดยได้ร่วมกับชุมชนตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้ว 30 หมู่บ้าน ที่เหลืออีก 70 หมู่บ้าน คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนก.พ.2566 เมื่อได้ข้อมูลการครอบครองที่ดินที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้จะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และมูลนิธิต่างๆ เพื่อเข้าไปส่งเสริมพัฒนาอาชีพ โดยการนำมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ แนวพระราชดำริป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจสีเขียว มาใช้ปฏิบัติในพื้นที่เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้ราษฎรมีอาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมดุล สามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างยั่งยืนสืบไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ