"ปรีดี พนมยงค์" คือใคร สำคัญกับการเมืองไทยอย่างไร ทำไมคนรออ่าน "จดหมายปรีดี"

Home » "ปรีดี พนมยงค์" คือใคร สำคัญกับการเมืองไทยอย่างไร ทำไมคนรออ่าน "จดหมายปรีดี"
"ปรีดี พนมยงค์" คือใคร สำคัญกับการเมืองไทยอย่างไร ทำไมคนรออ่าน "จดหมายปรีดี"

ปี พ.ศ.2567 ถือเป็นอีกปีสำคัญของคอการเมืองของไทย เมื่อปีนี้ถือเป็นปีสำคัญที่ “จดหมายปรีดี” ซึ่งถูกเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุฝรั่งเศส จะถูกเปิดอ่านเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี และทำให้ชื่อของ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรี หนึ่งในแกนนำ “คณะราษฎร” ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง

  • “จดหมายปรีดี” คืออะไร ทำไมหลายคนรอเปิดซองอ่าน “ประวัติศาสตร์” ของไทยขนาดนี้?
  • “ปรีดี พนมยงค์” กับ 5 หมุดหมายของชีวิตที่ส่งผลต่อประเทศไทย
  • เพจ “120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์” กับกลยุทธ์ “โหนกระแส” เพื่อเล่าประวัติศาสตร์

แต่สำหรับหลายคนที่ไม่ค่อยได้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด ก็อาจจะยังไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจว่าทำไม “ปรีดี พนมยงค์” จึงมีบทบาทสำคัญกับการเมืองไทย Sanook พาทุกคนทำความรู้จัก “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่เผชิญมรสุมชีวิตจนต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น

“ปรีดี พนมยงค์” คือใคร

ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม คือนักกฎหมาย อาจารย์ นักกิจกรรม นักการเมือง นักการทูต และอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เขาเป็นบุคคลสำคัญในการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ.2475 ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

Pridi สถาบันปรีดี พนมยงค์

ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2443 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธนา เป็นบุตรคนที่ 2 ในพี่น้องทั้งหมด 8 คน ของนายเสียงและนางลูกจันทร์ พนมยงค์ สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนศาลาปูน และเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย) จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงเข้าไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ก่อนจะเข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย สอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ตอนอายุ 19 ปี และได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรม ไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยกอง ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย ฝ่ายนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยปารีส 

ปรีดี พนมยงค์ สมรสกับท่านผู้หญิงพูนศุข (ณ ป้อมเพชร) พนมยงค์ ในปี พ.ศ.2471 มีบุตร-ธิดา รวม 6 คน และถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 รวมอายุได้ 83 ปี

Pridi 2สถาบันปรีดี พนมยงค์

ผู้ก่อตั้ง “คณะราษฎร”

ระหว่างศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ และในประเทศอื่นๆ ก่อตั้งสมาคมชื่อว่า “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” ได้มีการพบปะพูดคุยกับนักเรียนไทยหัวก้าวหน้า จนเกิดแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยปรีดีได้ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน ประชุมก่อตั้ง “คณะราษฎร” ที่กรุงปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2470 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมครั้งแรก ประกอบด้วย

  1. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี 
  2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังขะ (จอมพล ป.)
  3. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี 
  4. นายตั้ว ลพานุกรม 
  5. หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)
  6. นายแนบ พหลโยธิน 
  7. นายปรีดี พนมยงค์

Pridi 3สถาบันปรี พนมยงค์

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ปรีดีร่วมกับสมาชิกคณะราษฎร ปฏิวัติการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ หลังจากนั้นปรีดีก็ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราม เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยาม 

บทบาททางการเมือง

ปรีดีเข้าดำรงตำแหน่งว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ในปี พ.ศ.2476 หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2484 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ปรีดีจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” กระทั่ง ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 1 ในปี พ.ศ.2489 ภายหลังที่พันตรีควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี เกิดแพ้มติเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน อย่างไรก็ตาม ปรีดี พร้อมคณธรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2489 ถือเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

Pridi 4สถาบันปรีดี พนมยงค์ 

ปรีดีได้รับการสนับสนุนให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 แต่ระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ คือการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ด้วยพระแสงปืน ปรีดีจึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2489 อย่างไรก็ตาม ปรีดีถูกโจมตีอย่างหนักจากประชาชน จนถูกกล่าวหาว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” รัฐบาลจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน และปรีดีก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2489 รวมระยะในตำแหน่ง 2 สมัย 4 เดือน 27 วัน

ผลงานสำคัญของปรีดี

ปรีดีเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศหลายด้าน และมีผลงานสำคัญหลายด้าน ทั้งด้านนิติบัญญัติและการวางรูปแบบในระบอบประชาธิปไตย โดยปรีดีได้รับสมญาว่าเป็น “มันสมองของคณะราษฎร” และเป็นผู้ร่างหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ 

Pridi 5สถาบันปรีดี พนมยงค์

นอกจากนี้ ปรีดียังเป็นผู้สถาปนา “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ปรีดียังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านสงครามและต่อสู้เพื่อสันติภาพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ขององค์การต่อต้านญี่ปุ่น หรือ “ขบวนการเสรีไทย

ขบวนการเสรีไทยของปรีดี ทำให้ฝ่านสัมพันธมิตรไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นผู้แพ้สงคราม ไม่ต้องถูกยึดครอง ด้วยคุณูปการที่เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองยามคับขัน ปรีดีจึงได้รับยกย่องให้เป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” ถือเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย

ลี้ภัยทางการเมือง

หลังการรัฐประหารของพลโทผิณ ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ.2490 คณะรัฐประหารพยายามจับกุมปรีดีและครอบครัว แต่พวกเขาสามารถหลบหนีออกนอกประเทศไปยังสิงคโปร์ได้ และได้อาศัยอยู่ที่นั่น 2 ปี ก่อนลี้ภัยไปประเทศจีน เป็นเวลา 21 ปี และไปใช้ชีวิตในวัยชราที่ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 รวมอายุได้ 83 ปี

Pridi 6สถาบันปรีดี พนมยงค์

ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งประเทศไทย เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” เมื่อปี พ.ศ.2543

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ