ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดนโทษจำคุก แต่ต้องออกมานอน รพ.ตำรวจ เนื่องจากป่วยจากโรคประจำตัวตั้งแต่คืนแรก ว่า “ทักษิณต้อง ติดคุกจริงๆ หรือไม่” ตามที่คุณทักษิณ ชินวัตรได้รับการพระราชทานอภัยโทษลดโทษจำคุกจาก 8 ปี เหลือ 1 ปีนั้น มีคำถามว่าคุณทักษิณ ซึ่งขณะนี้ได้รับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ จะอยู่นอกเรือนจำไปเรื่อยๆ จนเวลาครบ 1 ปีได้หรือไม่?
คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่ กฎกระทรวงยุติธรรม เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ซึ่งลงนามโดยคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นครับ หลักเกณฑ์โดยสรุปคือ ถ้าผู้ต้องขังมีอาการป่วยโดยสถานรักษาพยาบาลของเรือนจำไม่สามารถรักษาได้ ผู้บังคับบัญชาเรือนจำ มีอำนาจอนุญาตให้ ส่งตัวไปรับการรักษานอกเรือนจำได้ และถ้าจำเป็นจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ อย่างไรก็ตามหากการรักษานอกเรือนจำมี ระยะเวลานาน กฎกระทรวงข้อ 7 (ภาพประกอบที่สอง) กำหนดว่า หากเกิน 30 วัน นอกจากต้องมีความเห็นจากแพทย์ผู้ทำการรักษา และ ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หากเกิน 60 วัน นอกจากอธิบดีต้องให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องรายงานให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมทราบ และหากเกิน 120 วัน ต้องรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบ
- เปิด! หลักเกณฑ์อภัยโทษ คาด ‘ทักษิณ’ มีสิทธิ์ ถูกปล่อยตัว ก่อนครบ 1 ปี
- วิษณุ เผย ทักษิณ มีสิทธิได้ลดโทษในวโรกาสสำคัญ เหมือนนักโทษคนอื่นๆ
- พักโทษทักษิณ ทนาย ชี้ ศึกษาอยู่ หากเข้าเกณฑ์ พร้อมใช้สิทธิ
ถามว่าเกิน 120 วันจะเป็นอย่างไร? คำตอบคือ กฎกระทรวงฉบับนี้เขียนไว้เพียงแค่นั้น หมายความว่าจะเกิน 120 วันหรือ 4 เดือน ไปถึง 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็ได้ แต่ต้องเป็นความเห็นของแพทย์ ว่าอาการป่วยยังจำเป็นต้องได้รับการรักษานอกเรือนจำ และ ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดี และแจ้งปลัดกระทรวงกรณีเกิน 60 วัน และแจ้งรัฐมนตรีกรณีเกิน 120 วันโดยสรุปคือตราบใดที่คุณทักษิณยังป่วยถึงขนาดโรงพยาบาลของเรือนจำยังรักษาไม่ได้ ก็ยังรักษาตัวข้างนอกได้ แต่ถ้า หายแล้วก็ต้องกลับมาต้องขังในเรือนจำ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นแพทย์ และการให้ความเห็นชอบของอธิบดีในกรณีเกิน 30 วันดังที่ได้กล่าวไปครับความจริงแล้วเป็นเรื่องถูกต้องที่ผู้ต้องขังที่ป่วยควรสามารถไปรับการรักษาพยาบาลนอกเรือนจำได้ถ้าโรงพยาบาลของเรือนจำรักษาไม่ได้หรือไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาได้
แต่เนื่องจากกรณีนี้อาจจะมีคำถามและข้อสงสัยกันมาก ว่าป่วยถึงขนาดต้องรักษานอกเรือนจำจริง หรือเป็นเรื่องของ “ดีล” หรือไม่ ดังนั้น หากครบ 30 วันแล้ว (ซึ่งจะครบ 30 วันในวันที่ 21 กันยายน) แพทย์ผู้ทำการรักษาเห็นว่ายังต้องรับการรักษานอกเรือนจำต่อไป อธิบดีกรมราชทัณฑ์ซึ่งจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบก็ควรต้องมีการแถลงต่อสาธารณชน และตอบคำถามเพื่อไม่ให้สังคมสงสัย ว่าเป็นเรื่องอภิสิทธิ์ หรือการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ผู้คนรู้สึกกัน แล้วหากจะต้องรักษาเกิน 60 วัน ปลัดกระทรวงยุติธรรมก็ต้องแถลง และหากจะเกิน 120 วันรัฐมนตรีก็ต้องเป็นผู้แถลง
เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นการปฏิบัติที่โปร่งใสและเสมอภาค ผู้ต้องขังไม่ว่าใครจะยากดีมีหรือจน หากป่วยแล้วโรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาไม่ได้ก็พึงได้สิทธิและโอกาสในการออกมารักษาตัวนอกเรือนจำเช่นเดียวกัน และอยู่ภายใต้หลักว่าถ้าหายป่วยแล้วก็ต้องกลับไปเข้าเรือนจำ หากไม่ทำดังที่ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่และกระทบรัฐบาลแน่นอนครับ
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY