‘ประวิตร’ สั่งการ ‘กรมทะเลชายฝั่ง’ กำหนดมาตรการทางกฎหมาย คุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยว พร้อมสำรวจแหล่งหญ้าทะเล ยกระดับความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมพิจารณาเรื่อง การกำหนดสถานีสำรวจติดตามสถานภาพทรัพยากรหญ้าทะเล จากการสำรวจพบแหล่งหญ้าทะเลครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดชายฝั่ง มีพื้นที่ประมาณ 160,628 ไร่ แบ่งออกเป็นฝั่งอ่าวไทย 54,148 ไร่ และฝั่งทะเลอันดามัน 106,480 ไร่ ซึ่งหญ้าทะเลถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล จึงต้องสำรวจเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยการกำหนดสถานีสำรวจติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล จำนวน 128 สถานี
ตนได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำรวจติดตามสถานภาพนอกเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 80 สถานี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) สำรวจติดตามสถานภาพฯ ในเขตอุทยานฯ 48 สถานี พร้อมกำชับให้กรม ทช. รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจดังกล่าวบรรจุในรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยประจำปีอีกด้วย
นายจตุพร กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความห่วงใยในเรื่องสัตว์ทะเลหายากเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วาฬบรูด้า ที่กำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าได้สร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศปีละประมาณ 26.7 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมมากกว่า ปีละ 8,000 คน มีผู้ประกอบการการท่องเที่ยวและเรือนำเที่ยวมากกว่า 38 ลำ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับวาฬบรูด้า เนื่องจากวาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบการถูกรบกวน แต่จากการที่มีเรือนำเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมเป็นประจำทุกวัน ทำให้วาฬเกิดความคุ้นเคย
หลายครั้งพบว่าเรือนำเที่ยวเข้าไปใกล้ในระยะที่อาจเป็นอันตราย หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบและรบกวนพฤติกรรมของวาฬในธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการแล้ว ควรมีมาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ตนจึงมอบหมายให้ รรท.อทช. ติดตามและกำชับหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายและให้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ โดยให้ออกเป็นประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยว พ.ศ. … ต่อไป
นายอภิชัย กล่าวเสริมว่า กรม ทช. ได้ดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูลสถานการณ์สภาพปัญหาและผลกระทบจากการท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้า พร้อมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ จากการประชุมมีความเห็นให้กำหนดมาตรการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นกติกาที่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตนจะเร่งดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายตามแนวนโยบายของรัฐบาลและ กทช. อย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่าย ขยายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในทุกมิติ