ประวัติ โรงสกูลหลวง สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนถือกำเนิดโรงเรียนแห่งแรกของไทย

Home » ประวัติ โรงสกูลหลวง สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนถือกำเนิดโรงเรียนแห่งแรกของไทย

ประวัติ โรงสกูลหลวง สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนถือกำเนิดโรงเรียนแห่งแรกของไทย ทั้งโรงเรียนหลวงและโรงเรียนราษฎร์ เป็นโรงเรียนที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงขึ้นครองราชสมบัติ ในปีพ.ศ. 2411 ต่อมาในปี พ.ศ. 2414 พระองค์ท่านทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา ซึ่งในขณะนั้นสยามมีเพียงโรงเรียนมิชชันนารี จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม สถานที่ดังกล่าวนี้ คือ โรงสกูลหลวง (โรงเรียนหลวง) 

โรงสกูลหลวง ตั้งอยู่ข้างโรงละครเก่าในสนาม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยครูใหญ่คนแรกก็คือ หลวงสารประเสริฐ ปลัดกรมอาลักษณ์ (นามจริง น้อย อาจารยางกูร ต่อมา ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระศรีสุนทรโวหาร) โดยประกาศให้ พระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าข้าราชการ ได้ส่งบุตรหลานเข้าเรียนหนังสือ ซึ่งพระองค์ได้มีพระบรมราชโองการบางตอนหนึ่งว่า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งได้นำบุตรทูลเกล้าฯ ถวายให้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณ มีเป็นอันมาก ทรงพระราชดำริว่า บุตรหลานของท่านทั้งปวง บรรดาที่เข้ารับราชการ สนองพระเดชพระคุณอยู่นั้น แต่ล้วนเป็นผู้มีชาติมีตระกูล ควรจะรับราชการ เบื้องหน้าต่อไป แต่ยังไม่รู้หนังสือไทย แลขนบธรรมเนียมราชการอยู่โดยมาก และการรู้หนังสือนี้ ก็เป็นคุณสำคัญข้อใหญ่ เป็นเหตุจะให้ได้รู้วิชา แลขนบธรรมเนียมต่าง ๆ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโรงสอนขึ้นไว้ที่ในพระบรมมหาราชวัง แล้วจัดคนในกรมพระอาลักษณ์ ตั้งให้เป็นขุนนางพนักงาน สำหรับเป็นครูสอนหนังสือไทย สอนคิดเลข และขนบธรรมเนียมราชการ พระราชทานเงินเดือนครูสอนให้ สมควรพอใช้สอย ส่วนผู้ที่เรียนหนังสือนั้น ก็จะพระราชทานเสื้อผ้านุ่งห่ม กับเบี้ยเลี้ยงกลางวันเวลาหนึ่งทุกวัน ครูสอนนั้น จะให้สอนโดยอาการเรียบร้อย ไม่ให้ด่าตีหยาบคาย

ฃภาพมุมสูงพระบรมมหาราชวัง ถ่ายโดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยม ฮันท์ เมื่อ พ.ศ. 2489ฃภาพมุมสูงพระบรมมหาราชวัง ถ่ายโดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยม ฮันท์ เมื่อ พ.ศ. 2489

และโปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษสำหรับสอนภาษาอังกฤษ ให้กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และหม่อมเจ้าต่างกรม ที่ทรงได้เรียนภาษาไทยแล้ว โดยตั้งอยู่ที่ตึกสองชั้น ข้างประตูพิมานไชยศรี ด้านทิศตะวันออก มีนายฟรานซิส ยอร์ช แปเตอร์สัน เป็นครูผู้สอน 

ต่อมาเมื่อนาย ฟรานซิส ยอร์ช แปเตอร์สัน ครูสอนภาษาอังกฤษ กราบทูลฯ ขอลากลับยุโรป ในปีพุทธศักราช 2419 โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ จึงต้องเลิกไป จนกระทั่งในปี พุทธศักราช 2422 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นมาใหม่ ณ พระราชวัง นันนทอุทยาน เรียกชื่อว่า “โรงเรียนนันทอุทยาน” หรือ “โรงเรียนสวนนันทอุยาน” โดยโปรดฯ ให้หมอแมคฟาร์แลนด์ (S.G. Mc. Farland) มิชชั่นนารีชาวอเมริกัน ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ และมีคณะกรรมการคณะหนึ่ง จำนวน 8 ท่าน ทำหน้าที่ควบคุม ดูและจัดการ และนี่คือกำเนิด “โรงเรียน” ที่มีคุณลักษณะ เป็นโรงเรียนอย่างแท้จริง แทนการเรียนตามวัด หรือบ้าน อย่างที่เคยเป็นมา

กรมทหารมหาดเล็ก สู่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

ในปี พ.ศ.2414 นอกจากโรงสกูลหลวงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดฯ ให้เลือกสรรลูกผู้ดีมาฝึกหัดจัดเป็นกรมทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์ และให้เป็นที่ศึกษาหาความรู้ในราชสำนักสำหรับราชการด้วย และพระองค์เองก็ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก เมื่อกรมทหารมหาดเล็กเจริญขึ้น ทรงพระราชดำริว่าเชื้อสายราชสกุลชั้นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์มีอยู่มากแต่มักไม่ได้รับการอบรม บางคนประพฤติเสเพลเป็นนักเลงหัวไม้ เมื่อเกิดถ้อยความก็ขึ้นชื่อว่าเชื้อเจ้านายไปรังแกผู้อื่น จึงโปรดให้หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ซึ่งมีอายุสมควรจะฝึกหัดเข้าเป็นทหารมหาดเล็ก

พระตำหนักสวนกุหลาบ

ปี พ.ศ. 2424 โปรดฯ ให้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ (ขณะนั้นยังทรงดำรงพระยศ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ราชองค์รักษ์ ผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก) ทรงตั้งโรงเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่งเพื่อสอนผู้ที่จะมาเป็นนายสิบ นายร้อย ในกรมทหารมหาดเล็ก แต่เนื่องจากฐานะทหารมหาดเล็กได้เสื่อมไปไม่เหมือนแต่ก่อน ประกอบกับสมัยนั้นราชการกระทรวงต่างๆ เปลี่ยนแปลงแบบแผนเป็นอย่างใหม่ เป็นที่นิยมของคนหนุ่มๆ ขึ้นมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนซึ่งมีเพียงทหารมหาดเล็กอย่างเดียว ดังนั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงคิดว่าควรจะจัดตั้งโรงเรียนจะได้มีผู้สมัครเข้ามามาก จึงนำความเห็น ขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับความเห็นชอบด้วย พระองค์ดำรัสสั่งให้จัดตั้งโรงเรียน ตามที่คิดนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับจะทรงอุดหนุน ครั้นจะเลือกหาที่ตั้งโรงเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กก็ไม่มีที่พอแก่การจัด จึงได้เลือกพระตำหนักสวนกุหลาบซึ่งตอนนั้นใช้เป็นคลังรุงรังรกอยู่ไม่เป็นประโยชน์ นัก จึงกราบทูลฯขอก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในที่นั้น อาศัยเหตุนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า
“โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” เมื่อ พ.ศ. 2425

ต่อมา พ.ศ. 2436 โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบย้ายออกไปตั้งที่ด้านใต้ของพระนคร ซึ่งก็คือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนตัวพระตำหนักสวนกุหลาบนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นโรงพยาบาลทหารมหาดเล็ก สำหรับรักษาพยาบาลทหารมหาดเล็กซึ่งเข้าเวรในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 7 จึงถูกทิ้งร้างกลายเป็นตึกคลังเก็บของไป

โรงเรียนราษฎรแห่งแรกในประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปรารภให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนสำหรับราชนิกูลหรือบุตรหลานของข้าราชการ พระองค์จึงได้โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น เพื่อให้บุตรหลานของเหล่าราษฎรได้เล่าเรียนขึ้นในปี พ.ศ. 2427 คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม 

โรงเรียนหลวงสำหรับให้เหล่าราษฎรได้เล่าเรียนแห่งแรก จัดตั้งขึ้นในวัดมหรรณพาราม อาศัยที่วัดหรือศาลาวัดทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ประเพณีของคนไทยก็ให้บุตรหลานเข้าเรียนหนังสือในวัดมาช้านานแล้ว

เมื่อจัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรก ปรากฏข่าวลือว่าทางการต้องการเด็กไปเป็นทหารทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ราษฎรจนไม่กล้าส่งบุตรหลานเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน ข่าวลือดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องมีพระบรมราชโองการว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งหากทางราชการต้องการทหารก็ไม่จำเป็นต้องจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาเพราะสามารถคัดเอาคนมาเป็นทหารได้อยู่แล้ว

ต่อมา โปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2435 (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อดูแลเรื่องการศึกษาและการศาสนา 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ