ประวัติ หาญส์ หิมะทองคำ สามี ปู มัณฑนา จากพระรองช่องมากสี สู่เส้นทางนักการเมือง ที่ย้ายพรรคมาแล้วหลายครั้ง
ภักดีหาญส์ หิมะทองคำ เกิด 29 มีนาคม พ.ศ. 2516 ปัจจุบันอายุ 51 ปี อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ธรรมนัส พรหมเผ่า) อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตวังทองหลาง อดีตพิธีกร และอดีตนักแสดง มีชื่อในวงการแสดงว่า หาญส์ หิมะทองคำ
การศึกษา
ดร.ภักดีหาญส์ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนศรีวิกรม์, มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี, ปริญญาตรีจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, ปริญญาโทจากรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาเอกจากรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
บทบาทในวงการบันเทิง
ภักดีหาญส์ หิมะทองคำ มีชื่อในวงการแสดงว่า หาญส์ หิมะทองคำ มีผลงานการแสดงละครเรื่องแรกกับทางช่อง 7 เรื่อง มณีเนื้อแท้ เมื่อปี 2540 โดยเรื่องต่อๆ มามีไปร่วมแสดงละครช่องอื่นบ้างประปราย แต่ส่วนใหญ่มีผลงานกับทางช่อง 7 อาทิ สะใภ้ปฏิวัติ (2541), ลูกตาลลอยแก้ว (2541), คู่อันตรายดับเครี่องชน (2542), ทายาทอสูร (2544), นางแมวป่า (2544), แม่โขง (2544) ผลงานละครเรื่องสุดท้ายก่อนเบนเข็มไปสู่การเมืองคือ สิบตำรวจโทบุญถึง (2546)
ชีวิตครอบครัว
ภักดีหาญส์ หิมะทองคำ สมรสกับ ปู-มัณฑนา โห่ศิริ นางเอกชื่อดังในยุคนั้น โดยพบรักกันในกองถ่ายละครเรื่อง นางแมวป่า และแต่งงานกันเมื่อปี 2545 มีบุตร-ธิดา 3 คน คือ น้องเพียร์ซ ภีมเดช, น้องเพิร์ล ภัคธีมา และ น้องพอล ภีมวัจน์ หิมะทองคำ
เส้นทางการเมือง
นายภักดีหาญส์เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในเขตวังทองหลาง และได้รับเลือก ซึ่งในขณะนั้นนายภักดีหาญส์สังกัดพรรคไทยรักไทย ต่อมาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย นายภักดีหาญส์จึงได้ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน
ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย นายภักดีหาญส์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 6 (หนองจอก, คลองสามวา, คันนายาว และ บึงกุ่ม) กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับเลือก
ต่อมานายภักดีหาญส์มีชื่อเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สหัส บัณฑิตกุล) แต่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เห็นว่าไม่เหมาะสมจึงแต่งตั้ง นางสาวศุภมาส อิศรภักดี อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร ดำรงตำแหน่งแทน
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 15 สังกัดพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับ ณัฎฐ์ บรรทัดฐาน บุตรชายของ บัญญัติ บรรทัดฐาน สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แทนนางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เข้ามาควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ
ต่อมา นายภักดีหาญส์ได้ย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 20 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง จากนั้นจึงได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาและย้ายมาสังกัด พรรคเศรษฐกิจไทย
และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 เขาได้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตของกรุงเทพมหานคร เขต 13 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง