ประวัติ “หมอชลน่าน” ดาวสภา อดีตหัวหน้าพรรค และรมต.สธ. คนใหม่

Home » ประวัติ “หมอชลน่าน” ดาวสภา อดีตหัวหน้าพรรค และรมต.สธ. คนใหม่

ทำความรู้จัก “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้ยืนหยัดต่อสู้อยู่เคียงข้างพรรคมาโดยตลอด สู่วันที่ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ “หมอชลน่าน” กลายเป็นชื่อคุ้นหูของประชาชนที่ติดตามการเมืองในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ในบทบาทหัวหน้า “พรรคเพื่อไทย” ก่อนจะผ่านความท้าทายมากมาย จนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และสุดท้ายก็ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” แต่เรื่องราวของหมอชลน่านมีความน่าสนใจและผ่านการทำงานทางการเมืองมาอย่างโชกโชน Sanook เปิดประวัติ “หมอชลน่าน” ผู้ได้รับฉายา “ดาวสภาฯ” จนถึงวันที่ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรี 

  • ส่องทรัพย์ “หมอชลน่าน ศรีแก้ว” นักการเมืองชื่อดัง รวยได้อีก

หมอชลน่าน เป็นคนน่าน

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว มีชื่อเล่นว่า ไหล่ เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2504 ที่ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โดยสำเร็จการศึกษาแพทย์ศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับนายแพทย์ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ และนายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ ก่อนจะสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท รัฐประศาสนาศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 

AFP

หมอชลน่านเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเวีบงสา และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ก่อนจะเข้ามาทำงานการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดน่าน สังกัดพรรคไทยรักไทย

เส้นทางการเมืองของหมอ

ปี พ.ศ.2547 หมอชลน่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะขยับมารับตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2548 ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทั้งยังเป็นกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เช่นเดียวกับได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองโฆษกพรรคเพื่อไทยในช่วงเวลาหนึ่ง 

ช่วงปลายปี พ.ศ.2552 สื่อประจำรัฐสภา ได้ตั้งฉายาให้หมอชลน่่าน ว่าเป็น “ดาวสภาฯ” ด้วยบทบาทการปภิปรายที่มุ่งเน้นข้อมูลมากกว่าการใช้วาทะศิลป์ ต่อมา หมอชลน่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี พ.ศ.2555 

AFP

หมอชลน่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อปี พ.ศ.2564 และทำให้เขากลายเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 

ลาออกหัวหน้าพรรคตาม “สัจจะ”

หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ปรากฏว่าพรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 หมอชลน่านทำหน้าที่เป็นผู้เสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่พิธาได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังจากนั้นก็เกิดกระแสข่าวมากมายถึงการย้ายขั้วไปจับมือกับพรรคฝ่ายตรงข้ามของพรรคเพื่อไทย มีการเชิญพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และพรรคฝ่ายรัฐบาลก่อนหน้า มาหารือที่พรรคเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทำให้สังคมทวงถามหมอชลน่านว่าจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เนื่องจากหมอชลน่านเคยให้สัญญาไว้ ระบุว่าถ้าพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ จับมือกับลุงป้อม ผมในฐานะหัวหน้าพรรคจะลาออก

AFP

โลกโซเชียลก็ร้อนระอุ เกิดเป็น #ชลน่านลาออกกี่โมง และนำไปสู่การแถลงข่าวลาออกของหมอชลน่าน ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ