ประวัติ สมณะโพธิรักษ์
สมณะโพธิรักษ์ (มงคล รักพงษ์) เกิดที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 บิดาเสียชีวิต ตั้งแต่ท่านยังเล็ก มารดาได้มาประกอบอาชีพที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นรกรากเดิมของบรรพบุรุษ และได้แต่งงาน อีกครั้งหนึ่ง มารดาค้าขายเก่ง มีฐานะดี แต่ต่อมาถูกโกงและป่วย ทำให้ฐานะ ทางการเงิน ทรุดลง แต่ก็ได้รับ ความช่วยเหลือเลี้ยงดู จากคุณลุง ซึ่งเป็นนายแพทย์ ส่วน ด.ช.มงคลนั้น เป็นผู้มีความขยัน หมั่นเพียร อดทน ช่วยมารดาค้าขาย หารายได้ตลอดมา
เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปลายในกรุงเทพฯ ก็ได้เข้าศึกษาต่อ ที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และ ได้เปลี่ยน ชื่อเป็น รัก รักพงษ์ ขณะที่เรียนอยู่ที่ โรงเรียนเพาะช่างนี้ เรียนจบแล้ว ท่านได้เข้าทำงาน ที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (พ.ศ. 2501) โดยเป็นผู้จัด รายการเด็ก, รายการการศึกษา และรายการ วิชาการต่างๆ จนมี ชื่อเสียง ในสมัยนั้น ทั้งยังเป็น ครูพิเศษ สอนศิลปะตามโรงเรียนต่างๆ ด้วย มีรายได้ เดือนละ 20,000 บาท (ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้น มีเงินเดือน 12,000) และเมื่อมารดา ถึงแก่กรรม ก็ได้รับภาระเลี้ยงดูน้องๆ ทั้ง 6 คน ให้เรียนจนจบ ตามความต้องการ ของแต่ละคน รัก รักพงษ์ มีความสามารถในศิลปการประพันธ์ ทั้งเรื่องสั้น สารคดี บทกวี บทเพลง โดยเฉพาะ เพลง “ผู้แพ้” ซึ่งประพันธ์ สมัยที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่าง และทำงาน เป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ไปด้วย ได้รับความนิยมสูงสุด ในสมัยนั้น (พ.ศ. 2497 – พ.ศ. 2498) และทั้งเพลงที่ประกอบภาพยนต์ เรื่องโทน เช่น เพลงฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เพลงชื่นรัก เพลงกระต่ายเพ้อ เป็นต้น ก็ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน
รัก รักพงษ์ เคยสนใจเรื่องไสยศาสตร์ อยู่ระยะหนึ่ง มีคนนิยมมาก จนกระทั่ง ได้หันมาศึกษา พุทธศาสนา อย่างเอาจริงเอาจัง จนเกิดความซาบซึ้ง และเห็นคุณค่า ของพุทธศาสนา ท่านได้ปฏิบัติ อย่างเคร่งครัดตลอดมา จนสามารถเลิกละ อบายมุข โลกธรรม กามคุณ รับประทาน อาหารมังสวิรัติ วันละ 1 มื้อ จนเกิดความมั่นใจแล้ว จึงอุปสมบทที่ วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ในคณะ ธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ได้รับฉายาว่า “พระโพธิรักขิโต” มี พระราชวรคุณ เป็นอุปัชฌาย์ เมื่อได้บวชในพุทธศาสนาแล้ว ท่านก็ยังปฏิบัติ เคร่งครัด สงบสำรวม เป็นที่ศรัทธา เลื่อมใส จนมีผู้มาขอศึกษา ปฏิบัติตาม ทั้งฆราวาส และนักบวช จากคณะธรรมยุต และมหานิกาย
ต่อมาพระราชวรคุณ ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ต้องการ ให้พระ ฝ่ายมหานิกาย มาศึกษาอยู่ร่วมด้วย พระโพธิรักษ์ จึงเข้ารับการสวดญัตติฯ เป็นพระของ คณะมหานิกาย อีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจาก คณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม จ.นครปฐม โดยมีพระครู สถิตวุฒิคุณ เป็นอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2516 ทั้งนี้เพราะ พระโพธิรักษ์ มุ่งสารธรรมเป็นใหญ่ ไม่ติดใจเรื่องนิกาย จึงมีพระทั้ง มหานิกาย และ พระธรรมยุต ที่มีปฏิปทาเป็น “สมานสังวาส” กัน มาร่วมศึกษา ปฏิบัติอยู่ด้วย โดยยึดถือธรรมวินัย เป็นใหญ่ ซึ่งทำให้ พระอุปัชฌาย์ ทางฝ่ายธรรมยุต ไม่พอใจ ท่านจึงคืนใบสุทธิ ให้ฝ่ายธรรมยุตไป เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2516 คงถือแต่ใบสุทธิ ฝ่ายมหานิกาย เพียงอย่างเดียว แต่ท่านก็มีพระ จากทั้ง 2 นิกาย อยู่ร่วมศึกษา ปฏิบัติด้วย เพราะท่านไม่รังเกียจ นิกายใดๆ มุ่งหมายทำงาน เพื่อพระศาสนา เพื่อประโยชน์ ส่วนรวม โดยไม่ให้ผิด พระวินัยเป็นสำคัญ
การปฏิบัติที่เคร่งครัดของท่านและคณะ เช่น การฉันอาหาร มังสวิรัติ วันละ 1 มื้อ, ไม่ใช้เงินทอง, นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก, มีชีวิตอย่างเรียบง่าย, ไม่มีการเรี่ยไร, ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์, ไม่ใช้การบูชา ด้วยธูปเทียน, ไม่มีไสยศาสตร์ฯ เหล่านี้ ซึ่งแตกต่าง จากพระสงฆ์ ในมหาเถรสมาคม ที่มีความเป็นอยู่ อย่างสุขสบาย ทำให้บางครั้ง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “นอกรีต”
เส้นทางการเมือง
สมณะโพธิรักษ์ได้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งยังได้มีบทบาททางการเมือง โดยนำพาผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 รวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต่อต้านรัฐบาลทั้งในปี พ.ศ. 2549 และพ.ศ. 2551 รวมถึงการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในปี พ.ศ. 2556 และพ.ศ. 2557 ด้วย
โดยเฉพาะการชุมนุมของ กปปส.นั้น สมณะโพธิรักษ์และผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกได้ปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินีตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)[4] โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ. 2555 ก็ได้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับองค์การพิทักษ์สยาม