สิบตำรวจตรีหญิง รัชนก อินทนนท์ ชื่อเล่น เมย์ อินสตาแกรม ratchanokmay เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 เป็นนักกีฬาแบดมินตันหญิงชาวไทย อดีตนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือหนึ่งของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2559 และเป็นคนไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยก่อนหน้านั้นในปี 2556 เธอได้คว้าแชมป์โลกและสร้างสถิติเป็นแชมป์โลกแบดมินตันอายุน้อยที่สุด
รัชนก สังกัดสโมสรบ้านทองหยอด และแข่งขันในนามสโมสรชิงเต่าในลีกระดับโลกที่ประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2555 โดยเซ็นสัญญาแบบปีต่อปี ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับหมู่ ฝ่ายฝึกอบรม ศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ประวัติ
รัชนก อินทนนท์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ที่จังหวัดยโสธร เป็นบุตรของ วินัสชัย อินทนนท์ ชาวจังหวัดยโสธร และ คำผัน สุวรรณศาลา ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด (ถึงแก่กรรมแล้ว) มีน้องชาย 1 คนคือ รัชพล อินทนนท์ เมื่ออายุ 3 เดือน รัชนกย้ายเข้ากรุงเทพมหานครตามบิดาและมารดา ซึ่งมาทำงานที่โรงงานทำขนมบ้านทองหยอด และได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น นับแต่นั้น รัชนก ยังมี กมลา ทองกร เจ้าของโรงงานบ้านทองหยอด เป็นมารดาบุญธรรมอีกด้วย
รัชนก เริ่มเล่นกีฬาแบดมินตัน เมื่ออายุได้ 6 ปี เนื่องจาก กมลา ทองกร เกรงว่า รัชนก จะวิ่งเล่นซุกซนภายในโรงงานจนเกิดอุบัติเหตุได้ จึงได้นำเธอมาหัดเล่นแบดมินตันตั้งแต่บัดนั้น หนึ่งปีต่อมาเธอได้ลงแข่งขันเป็นครั้งแรก ในรายการอุดรธานี โอเพ่น และได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นครั้งแรก
รัชนก สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมตอนต้นจากโรงเรียนกสิณธรอาคาเดมี่ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และระดับอุดมศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
ข้อมูลส่วนตัว
รัชนก อินทนนท์
ชื่อเล่น : เมย์
เกิด : 05 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 จังหวัดยโสธร ประเทศไทย
ส่วนสูง : 169 ซม.
มือที่ถนัด : ขวา
หญิงเดี่ยว
สถิติการแข่งขัน : ชนะ 487, แพ้ 226
อันดับโลกสูงสุด : 1 (21 เมษายน 2559)
อันดับโลกปัจจุบัน : 21 (16 กรกฎาคม 2567)
รายการเหรียญรางวัล
แบดมินตันชิงแชมป์โลก
เหรียญทอง – ชนะเลิศ กว่างโจว 2013 หญิงเดี่ยว
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 บาเซิล 2019 หญิงเดี่ยว
ซูดีร์มันคัพ
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 กัวลาลัมเปอร์ 2013 ทีมผสม
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 โกลด์โคสต์ 2017 ทีมผสม
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 หนานหนิง 2019 ทีมผสม
ยูเบอร์คัพ
เหรียญเงิน – รองชนะเลิศ กรุงเทพฯ 2018 ทีมหญิง
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 อู่ฮั่น 2012 ทีมหญิง
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 ออร์ฮูส 2020 ทีมหญิง
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 กรุงเทพฯ 2022 ทีมหญิง
เอเชียนเกมส์
เหรียญเงิน – รองชนะเลิศ กว่างโจว 2010 ทีมหญิง
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 จาการ์ตา-ปาเล็มบัง 2018 ทีมหญิง
ชิงแชมป์เอเชีย
เหรียญทอง – ชนะเลิศ อู่ฮั่น 2015 หญิงเดี่ยว
ชิงแชมป์เอเชียทีม
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 ไฮเดอราบาด 2016 ทีมหญิง
ซีเกมส์
เหรียญทอง – ชนะเลิศ อินโดนีเซีย 2011 ทีมหญิง
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 อินโดนีเซีย 2011 หญิงเดี่ยว
เหรียญทอง – ชนะเลิศ สิงค์โปร์ 2015 ทีมหญิง
เหรียญทอง – ชนะเลิศ ฟิลิปปินส์ 2019 ทีมหญิง
เยาวชนชิงแชมป์โลก
เหรียญทอง – ชนะเลิศ อาโลร์เซอตาร์ 2009 หญิงเดี่ยว
เหรียญทอง – ชนะเลิศ กัวดาลาฮารา 2010 หญิงเดี่ยว
เหรียญทอง – ชนะเลิศ ไทเป 2011 หญิงเดี่ยว
เยาวชนชิงแชมป์เอเชีย
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 กัวลาลัมเปอร์ 2009 ทีมผสม
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 กัวลาลัมเปอร์ 2010 หญิงคู่
เหรียญทองแดง – อันดับที่ 3 กัวลาลัมเปอร์ 2010 ทีมผสม
รางวัลที่ได้รับ
– นักแบดมินตันดาวรุ่งยอดเยี่ยมประจำปี 2552 สหพันธ์แบดมินตันโลก (EDDY CHOONG MOST PROMISING PLAYER OF THE YEAR AWARD 2009 – Badminton World Federation)
– รางวัลนักกีฬาที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทั่วโลกปี 2553 จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (2010 IOC SPORT-INSPIRING YOUNG PEOPLE TROPHY)
– รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยุวชนหญิงยอดเยี่ยม สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ประจำปี 2552
– รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยุวชนหญิงยอดเยี่ยม สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ประจำปี 2553
– รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยมหญิง สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ประจำปี 2554 (ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
– รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยมหญิง สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ประจำปี 2556 (ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
– รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยมหญิง สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ประจำปี 2558 (ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
– พ.ศ. 2557 รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยมหญิง สยามกีฬาอวอร์ดส์ ครั้งที่ 8