ประวัติ ‘พันท้ายนรสิงห์’ คือใคร? เกี่ยวข้องอย่างไรกับ ‘พระเจ้าเสือ’

Home » ประวัติ ‘พันท้ายนรสิงห์’ คือใคร? เกี่ยวข้องอย่างไรกับ ‘พระเจ้าเสือ’

ประวัติ พันท้ายนรสิงห์-min

“พันท้ายนรสิงห์” คือใคร? ประวัตินายท้ายเรือของ พระเจ้าเสือ ผู้ที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ และรักษากฎมณเฑียรบาลยิ่งกว่าชีวิตตน

สำหรับละครเรื่อง พรหมลิขิต (ep.3) เมื่อคืนวานนี้ 25 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นฉากของการเปิดตัว พุดตาน (แสดงโดย : เบลล่า ราณี แคมเปน) หรือที่หลายๆ คนเข้าใจกันว่าคือ แม่นางการะเกด อีกทั้งยังเป็นการพบกันครั้งแรกกับ พ่อริด (แสดงโดย : โป๊ป : ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) ลูกชายฝาแฝดของเกศสุรางค์ และออกญาวิสูตรสาคร

ซึ่งหลังจากที่พุดตานได้ย้อนเวลากลับมาในสมัยกรุงศรีอยุธา และได้พบกับ ยายกุย (แสดงโดย : รัดเกล้า อามระดิษ) จึงได้มีการสอบถามว่า “ตอนนี้พระมหากษัตริย์คือใคร?” จึงได้คำตอบจากยายกุยว่ามหากษัตริย์ใน คือ พระเจ้าเสือ

โดยหลังจากที่พุดตานได้ทราบว่าตอนนี้เธอได้หลุดเข้ามาอยู่ในยุคของพระเจ้าเสือ ความเชื่อมโยงแรกที่พุดตานนึกออก นั่นคือ ตำนานพันท้ายนรสิงห์ เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนแต่อาจจะยังงงๆ อยู่ว่า เพราะอะไร เมื่อพูดถึงพระเจ้าเสือแล้วพุดตานถึงเชื่อมโยงไปยังพันท้ายนรสิงห์เป็นอย่างแรก

วันนี้ ไบรท์ทูเดย์ (Bright Today) จะมาไขข้อสงสัยให้ทุกท่านได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้น ทั้ง ประวัติ พันท้ายนรสิงห์ รวมถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันระหว่าง พระเจ้าเสือ และ พันท้ายนรสิงห์ นายทหารผู้ซื่อสัตย์

“พันท้ายนรสิงห์” ประวัติ

พันท้ายนรสิงห์ เดิมชื่อว่า สิน เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบัน คือ อำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง) มีภรรยาชื่อว่า ศรีนวล ต่อมาได้มีโอกาสเข้ารับราชการเป็น นายท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัย ของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ พระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง

ความเกี่ยวข้องกันระหว่าง “พันท้ายนรสิงห์” และ “พระเจ้าเสือ”

พันท้ายนรสิงห์ และ พระเจ้าเสือ พบกันเป็นครั้งแรก เมื่อพระเจ้าเสือเสด็จฯ ไปยังตำบลบ้านตลาดกรวด อันเป็นตำบลบ้านหนึ่งของแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ซึ่งครั้งนั้นพระเจ้าเสือได้ขึ้นชกมวยคาดเชือกกับพันท้ายนรสิงห์ ปรากฏว่า ผลการชกออกมาเสมอกัน และด้วยความที่พระเจ้าเสือรู้สึกประทับใจในตัวพันท้ายนรสิงห์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการเป็นพันท้ายนรสิงห์ ตำแหน่งนายท้ายเรือพระที่นั่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

พันท้ายนรสิงห์เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านความซื่อสัตย์ สืบเนื่องมาจากในช่วงปีพ.ศ. 2247 พระเจ้าเสือเสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย ประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ขณะเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขาม ซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยว และมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน เป็นเหตุให้โขนเรือ (หัวเรือ) พระที่นั่งกระทบกับกิ่งไม้ใหญ่จนหักตกลงไปในน้ำ ซึ่งพันท้ายนรสิงห์รู้ว่า ความผิดครั้งในนี้มีโทษถึงประหารชีวิต โดยตามโบราณราชประเพณี ที่กำหนดเอาไว้ว่า “ถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย”

พันท้ายนรสิงห์-1-min
ที่มา : เพจ : มูลนิธิพันท้ายนรสิงห์

ประหารชีวิต “พันท้ายนรสิงห์”

เมื่อขึ้นฝั่งได้ พันท้ายนรสิงห์ จึงกราบทูลให้ พระเจ้าเสือ ทรงลงพระอาญาตามพระกำหนดถึงสามครั้งด้วยกัน เนื่องจากในครั้งแรก พระเจ้าเสือพระราชทานอภัยโทษ เพราะเห็นว่าเป็นอุบัติเหตุสุดวิสัย ครั้งที่สองก็รับสั่งให้สร้างรูปปั้นปลอมแล้วตัดหัวรูปปั้นนั้นแทน แต่ท้ายสุดก็ได้ตรัสสั่งให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ตามคำขอ แล้วสร้างศาลเพียงตา ก่อนจะนำศีรษะของพันท้ายนรสิงห์ และโขนเรือเอกไชย ขึ้นตั้งบนศาลไว้บูชาพร้อมกัน แล้วเสด็จออกไปทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี

เมื่อกลับกรุงศรีอยุธยา โปรดให้นำศพของพันท้ายนรสิงห์มาพระราชทานเพลิงศพ พระราชทานเงินทองสิ่งของจำนวนมากแก่ภรรยา และลูกของพันท้ายนรสิงห์ ภายหลังพระเจ้าเสือได้ทรงให้สมุหนายกเกณฑ์ไพร่พลจำนวน 30,000 คน ให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กอง ทำการขุดคลองลัดคลองโคกขามที่คดเคี้ยว ไปออกที่บริเวณแม่น้ำท่าจีน กว้าง 5 วา ลึก 6 ศอก ครั้นเมื่อขุดเสร็จในปีพ.ศ. 2252 ซึ่งเป็นช่วงสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้พระราชทานนามคลองนี้ว่า “คลองสนามไชย” ต่อมาเรียกเป็นคลองมหาชัย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองมหาชัย แต่ชาวบ้านเรียกว่า”คลองถ่าน” ปัจจุบันชาวบ้านฝั่งธนบุรี เรียกชื่อว่า “คลองด่าน”

ที่มา : wikipedia และ kapook

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ

Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ