รู้จัก “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ทหารคนสำคัญที่ สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ทาบไปเป็นผู้ช่วย เก่งทั้งบู๊และบุ๋น
วันที่ 3 ก.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้นำ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม และ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน กับว่าที่ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ชุดใหม่ ได้แก่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ว่าที่ ผบ.สส. ,พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ว่าที่ ผบ.ทบ. ,พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยว ว่าที่ ผบ.ทร. ที่โรงแรมโรสวูด ย่านเพลินจิต กทม.
การพบปะกันครั้งนี้ นายกฯเศรษฐา เป็นการแนะนำตัวให้รู้จักกัน และได้ขอให้ทหารช่วยเป็นดันหลังรัฐบาล จับมือพัฒนาประเทศไปด้วยกัน
ขณะเดียวกัน นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ก็ได้เชิญ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ไปพูดคุย ทาบทามให้มาช่วยงาน เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยได้มอบหมายงานในบางส่วนให้แล้ว ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล อาทิ การปรับวิธีการคัดเลือกทหารกองเกิน ,การปรับโครงสร้างกองทัพ การทำหน่วยทหารให้พี่น้องประชาชนได้เข้าถึงมากขึ้นโดยหน่วยทหารใดที่มีโรงพยาบาลทหาร ก็ให้เปิดรับรักษาประชาชนเพิ่มมากขึ้น การใช้พื้นที่ของทางราชการทหารให้เป็นประโยชน์ทางด้านการเกษตรเพิ่มมากขึ้น และการทำกองทัพให้ทันสมัย เป็นต้น
ย้อนไปในช่วงที่พรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กระแสข่าวลือบอกว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะนั่งเก้าอี้นายกฯ ควบ รมว.กลาโหม และมีชื่อของ บิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก เป็นตัวเต็งที่จะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะมีภาพลักษณ์เป็น “นายทหารประชาธิปไตย” เนื่องจาก พล.อ.นิพัทธ์ เป็นนายทหารระดับสูงเพียงคนเดียว ที่แสดงท่าทียืนตรงข้ามกับคณะรัฐประหาร และการยึดอำนาจมาโดยตลอด
พล.อ.นิพัทธ์ ในฐานะปลัดกลาโหม เป็นกุนซืองานด้านความมั่นคงให้กับ รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ทำงานเคียงข้างในช่วงเผชิญวิกฤติทางการเมือง จากการชุมนุมของ กปปส. ช่วงนั้น พล.อ.นิพัทธ์ ในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหม สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2549 หลัง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยุบสภา สวนทางกับข้อเรียกร้องของ กปปส. กระทั่งภายหลังมีการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้ง จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ
นอกจากนั้น พล.อ.นิพัทธ์ ยังอยู่เบื้องหลังการวางแผนบังคับใช้กฎหมายพิเศษ คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แบบจำกัดพื้นที่ ในห้วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ไม่กระทบสิทธิและไม่ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม ทำให้คณะรัฐมนตรีในยุคนั้นรอดจากการถูกชี้มูลกล่าวโทษโดย ป.ป.ช.ในเวลาต่อมา
หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 โดยคณะ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ พล.อ.นิพัทธ์ ถูกสั่งย้ายเข้ากรุประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทั่งต้องเกษียณอายุราชการในตำแหน่งลอยที่ไม่ใช่ตำแหน่งหลัก
พล.อ.นิพัทธ์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 หรือ ตท.14 และนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 25 เริ่มชีวิตราชการ ติดร้อยตรีครั้งแรกเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ ร.21 รอ. หน่วยเดียวกับ “3 ป.”
ศึกษาต่อปริญญาโทสาขาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ด้านการจัดการ จากมหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ และยังจบหลักสูตรทางทหารจากหลายประเทศ ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นนายทหารที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ผ่านงานทั้งหน่วยรบ หน่วยบริหาร และหน่วยธุรการ เคยเป็น “เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร” นานถึง 4 ปี ก่อนโยกเข้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นปลัดกลาโหม ก่อนโดนรัฐประหาร
พล.อ.นิพัทธ์ เคยไปเป็นผู้สังเกตการณ์การวางอาวุธเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์ กับอินโดนีเซีย กระทั่งได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงจากประธานาธิบดีแดนอิเหนา และจากประสบการณ์ที่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของอาเจะห์ ซึ่งนักวิชาการหลายคนมองว่ามีส่วนคล้ายกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จึงเคยมีหลายเสียงสนับสนุนให้ พล.อ.นิพัทธ์ ข้ามห้วยไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเจรจาดับไฟใต้ แต่สุดท้ายไม่สามารถฝ่าด่านประเพณีของกองทัพบกไปได้ เพราะแม่ทัพต้องมาจากสายคุมกำลัง และเป็นลูกหม้อ ทบ. แต่ พล.อ.นิพัทธ์ ไปเติบโตในสายกองทัพไทย
แต่ พล.อ.นิพัทธ์ ก็ได้ร่วมกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้จริงๆ ในปี 2556 เมื่อรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจเปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น “แบบเปิดเผย-เป็นทางการ” ครั้งแรกในรอบหลายสิบปีตั้งแต่มีปัญหาชายแดนภาคใต้ปะทุรุนแรงเป็นต้นมา โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
พล.อ.นิพัทธ์ เป็น 1 ใน 3 ทหารเสือ แกนนำคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย ประกอบด้วย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯสมช.) ในขณะนั้น เพื่อน ตท.14 ของ พล.อ.นิพัทธ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
ตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุราชการ ต่อเนื่องถึงหลังเกษียณ พล.อ.นิพัทธ์ มีงานเขียนทั้งในสื่อกระแสหลักและในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ใช้ชื่อคอลัมน์ “ภาพเก่าเล่าตำนาน” ซึ่งระยะหลังมีการทำเป็นคลิปวีดีโอเผยแพร่ทางช่อง YouTube ด้วย
ปัจจุบัน พล.อ.นิพัทธ์ เป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งทั้งคู่ รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยที่ นายชัชชาติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์