“ประยุทธ์” ร่วมในพิธีลงนามร่างกรอบความตกลง PCA EU-Thai ยกระดับความร่วมมือไทย-อียู ให้ใกล้ชิด เข้มข้น เป็นระบบ
เมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 14 ธ.ค.2565 (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์) ที่อาคารยูโรปา กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้นำฝ่ายสหภาพยุโรป
ได้แก่ นายชาร์ล มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นายเป็ตร์ ฟียาลา นายกรัฐมนตรีเช็ก ในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และนาย Josep Borrell Fontelles รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง
ร่วมในพิธีลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกฝ่ายหนึ่งกับราชอาณาจักรไทยอีกฝ่ายหนึ่ง (Framework Agreement on Comprehensive Partnership and Cooperation between the European Union and its Member States, of the one part, and the Kingdom of Thailand, of the other part) หรือ PCA EU-Thai
โดยร่างกรอบความตกลง PCA นี้ จะช่วยยกระดับความร่วมมือไทย-อียู ให้ใกล้ชิด เข้มข้น และเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้ง สร้างกลไกการหารือรอบด้านระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในประเด็นที่สนใจร่วมกัน
สำหรับผลประโยชน์ต่อไทยจาก PCA มีดังนี้
(1) เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกระแสการพัฒนาของโลก เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเปิดเจรจา FTA ไทย-EU รอบใหม่
(2) เพิ่มการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจาก EU และการเข้าถึงเงินทุนวิจัยและโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถต่าง ๆ ของ EU
(3) เป็นโอกาสให้ไทยได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านที่ไทยเชี่ยวชาญ เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า
(4) สะท้อนว่า ไทยเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดและไว้ใจได้ของ EU ผ่านการยึดถือค่านิยมที่เป็นสากลร่วมกัน
(5) สองฝ่ายมุ่งหวังให้ PCA เป็นเอกสารความตกลงที่มีการนำไปปฏิบัติจริงให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และไทยมุ่งที่จะให้การดำเนินการตามร่างกรอบความตกลงนี้เพื่อให้เป็นก้าวแรกของการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-อียู ไปสู่ความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างกันต่อไป
ทั้งนี้ ร่างกรอบความตกลงฯ ประกอบด้วย 64 ข้อ ส่วนอารัมภบท และส่วนปฏิญญาร่วมครอบคลุมความร่วมมือไทย-สหภาพยุโรป ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ในประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นแผนงานที่กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ มุ่งเพิ่มพูนกรอบการหารือและความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างกัน โดยสองฝ่ายสามารถร่วมกันพัฒนาแผนงานดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป