นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยเมื่อวันศุกร์ (30 ก.ค.) ว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้กระจายวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับจากสหรัฐ 1.54 ล้านโดส ตามแผนที่กำหนด ที่เน้นฉีดแก่บุคลากรแพทย์ด่านหน้า ห้ามจัดสรรให้บุคคลสำคัญ (วีไอพี) หรือนอกกลุ่มที่กำหนดไว้
วัคซีนโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ที่ได้รับจากรัฐบาลสหรัฐลอตนี้ ตามแผนแล้วแบ่งเป็น
- 700,000 โดส สำหรับ บุคลาการแพทย์ด่านหน้า (ใช้เป็นโดสที่ 3 สำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกัน)
- 645,000 โดส สำหรับ คนไทยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
- 150,000 โดส สำหรับ
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค
- หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
- ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศ
- ผู้เดินทางไปต่างประเทศ (นักการทูต นักศึกษา)
- 5,000 โดส สำหรับ การศึกษาวิจัย
- 40,000 โดส สำหรับ สำรองไว้ที่ส่วนกลางเพื่อตอบโต้กับการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2)
นอกจากนี้ นางสาวไตรศุลียังเผยอีกว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รู้สึกขอบคุณสหรัฐที่บริจาควัคซีนดังกล่าว ซึ่งถือเป็นไมตรีที่สหรัฐมีต่อไทยเสมอมา โดยเฉพาะในช่วงที่เผชิญกับโรคระบาดรุนแรงเช่นนี้
จับตากระจายวัคซีน
การเปิดเผยนี้มีขึ้นท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนว่าอาจไม่ถึงมือบุคลากรแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อหรือไม่
ด้านเครือข่ายบุคลากรแพทย์ ที่ประกอบด้วย ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, หมอไม่ทน, ภาคีพยาบาล, สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย, บุคลากรแพทย์และอาสาสมัคร, ภาคีเทคนิคการแพทย์, และนิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อประชาธิปไตย ยื่นหนังสือต่อกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันศุกร์ (30 ก.ค.) เรียกร้องให้การกระจายวัคซีนไฟเซอร์นี้มีความโปร่งใส
- เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ จี้ กระจาย “ไฟเซอร์” อย่างโปร่งใส ให้ติดตามตรวจสอบได้
ด้านนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันเดียวกัน ซึ่งเป็นวันที่วัคซีนลอตดังกล่าวมาถึงว่า การบริจาควัคซีนนี้ไม่มีเงื่อนไขใดๆ แต่สหรัฐก็หวังว่าไทยจะจัดสรรให้กับบุคลากรแพทย์ด่านหน้าก่อน
- สถานทูตสหรัฐฯ ย้ำบริจาควัคซีนโควิดโดยไร้เงื่อนไขใดๆ ไทยต้องตัดสินใจแผนกระจายเอง