ประมวลจริยธรรมตำรวจ รวม 7 ข้อ มีผลบังคับใช้แล้ว! หวังเป็นแบบอย่างข้าราชการที่ดี

Home » ประมวลจริยธรรมตำรวจ รวม 7 ข้อ มีผลบังคับใช้แล้ว! หวังเป็นแบบอย่างข้าราชการที่ดี

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประมวลจริยธรรมตํารวจ รวมทั้งหมด 7 ข้อ ต้องซื่อสัตย์สุจริต ห้ามแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ไม่คบหาหรือสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ

วานนี้ (1 ก.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประมวลจริยธรรมข้าราชการตํารวจ พ.ศ. 2564 ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ประธาน ก.ตร. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 64 โดยมีรายละเอียดดังนี้

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 76 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกําหนดประมวลจริยธรรมสําหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ต่ํากว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว และพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 ได้กําหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อใช้เป็นหลักสําคัญในการจัดทําประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ

เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ประกอบกับมติคณะกรรมการข้าราชการตํารวจ ในการประชุมครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และมติคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 จึงกําหนดประมวลจริยธรรมข้าราชการตํารวจ ไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประมวลจริยธรรมข้าราชการตํารวจนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ข้าราชการตํารวจพึงปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรม ดังต่อไปนี้

(1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการแสดงออกถึงความภูมิใจในชาติ และรักษาผลประโยชน์ของชาติ ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ เคารพในความแตกต่างของการนับถือศาสนา ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเทิดทูนรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

(2) ซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของสํานักงานตํารวจแห่งชาติด้วยความโปร่งใส ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีนัยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความพร้อมรับการตรวจสอบและรับผิด มีจิตสํานึกที่ดี คํานึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

(3) กล้าตัดสินใจและยืนหยัดกระทําในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม กล้าคัดค้านและดําเนินการแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามอํานาจหน้าที่ ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ ไม่ยอมกระทําในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเพียงเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน และต้องวางตัวเป็นกลางในฐานะผู้รักษากฎหมายในกระบวนการยุติธรรม

(4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีจิตสาธารณะ ร่วมมือ ร่วมใจ และเสียสละในการทําประโยชน์เพื่อส่วนรวม และสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม

(5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของงาน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว เที่ยงธรรม ทันต่อสถานการณ์ คํานึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นที่ตั้ง รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีมาตรฐานการทํางานที่เป็นสากล พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นในระบบการทํางานเป็นทีม ให้บริการแก่ประชาชนด้วยความเต็มใจ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเหมาะสมตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(6) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ โดยยึดถือความเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติโดยการไม่ใช้ความรู้สึกพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจส่วนตัวต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอันเนื่องมาจากชาติกําเนิด เพศ ศาสนาหรือความเชื่อ เชื้อชาติ สัญชาติ อายุ การศึกษา ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่น เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และยอมรับความแตกต่างของบุคคลหรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม และพึงวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

(7) ดํารงตนเป็นแบบอย่างด้วยการเป็นข้าราชการที่ดี รักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ และความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ พึ่งปฏิบัติตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อ้างหรือใช้อํานาจโดยปราศจากเหตุผล ดําเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายโดยน้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบรมราโชวาท หลักคําสอนทางศาสนามาปรับใช้ และปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีด้วยการเคารพกฎหมาย และมีวินัย

ข้อ 3 หากข้าราชการตํารวจผู้ใดจะต้องยึดถือหรือปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพตามกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นใดที่กําหนดไว้โดยเฉพาะ นอกจากจะต้องรักษาจริยธรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลจริยธรรมข้าราชการตํารวจนี้แล้ว จะต้องยึดมั่นในจรรยาวิชาชีพนั้นด้วย

ข้อ 4 การจัดทําแนวทางการปฏิบัติตนของข้าราชการตํารวจตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตํารวจนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการข้าราชการตํารวจกําหนด

ข้อ 5 ให้กรรมการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ปฏิบัติงานอื่น ยึดถือปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตํารวจนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามอย่างหนักถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากได้เห็นคลิปของ “ผู้กำกับโจ้” พร้อมลูกทีม นำถุงพลาสติกมาคลุมศีรษะผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายหนึ่งโดยอ้างว่าเพื่อรีดเค้นข้อมูลแต่สุดท้ายทำให้ผู้ต้องหารายนั้นขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตกลางโรงพักที่ จ.นครสวรรค์ กลายเป็นข่าวคึกโครมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 64 ราชกิจจานุเบกษา เคยเผยแพร่ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน รวมทั้งหมด 7 ข้อเช่นเดียวกัน ซึ่งลงนามโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ประธาน ก.พ. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ