ปภ.รายงานยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 16 จังหวัด ประสานเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย
วันนี้ (11 ต.ค.) เวลา 09.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ในช่วงวันที่ 23 ก.ย. – 11 ต.ค. 64 เกิดอุทกภัยใน 33 จังหวัด รวม 222 อำเภอ 1,185 ตำบล 8,056 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 323,523 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 9 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 17 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 16 จังหวัด ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือประชาชนต่อไป
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ซึ่งเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 64 – ปัจจุบัน
ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 222 อำเภอ 1,185 ตำบล 8,056 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 323,523 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 17 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี ชัยนาท) มีผู้เสียชีวิต 9 ราย (ลพบุรี ชาย 6 ราย เพชรบูรณ์ ชาย 2 ราย ชัยนาท ชาย 1 ราย)
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 16 จังหวัด รวม 64 อำเภอ 384 ตำบล 1,998 หมู่บ้าน 95,233 ครัวเรือน ดังนี้
-
สุโขทัย ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสำโรง อำเภอคีรีมาศ ระดับน้ำลดลง
-
พิษณุโลก ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางระกำ อำเภอวังทอง และอำเภอพรหมพิราม ระดับน้ำลดลง
-
ขอนแก่น ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอโคกโพธิ์ชัย อำเภอชนบท อำเภอมัญจาคีรี อำเภอพระยืน อำเภอบ้านแฮด อำเภอบ้านไผ่ และอำเภอเมืองขอนแก่น ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำลดลง
-
มหาสารคาม มวลน้ำจากจังหวัดขอนแก่นไหลเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเมืองมหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตร ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
-
ชัยภูมิ ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอคอนสวรรค์ ระดับน้ำลดลง
-
นครราชสีมา ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย อำเภอคง อำเภอแก้งสนามนาง อำเภอประทาย อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชุมพวง อำเภอเมืองยาง ระดับน้ำลดลง
-
อุบลราชธานี ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ ระดับน้ำลดลง
-
นครสวรรค์ ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอพยุหะคีรี และอำเภอโกรกพระ ระดับน้ำลดลง
-
อุทัยธานี ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองอุทัยธานี ระดับน้ำลดลง
-
ลพบุรี ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอโคกสำโรง ระดับน้ำลดลง
-
สระบุรี ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอเสาไห้ อำเภอหนองโดน อำเภอบ้านหมอ และอำเภอดอนพุด ระดับน้ำลดลง
-
สุพรรณบุรี ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง ระดับน้ำทรงตัว
-
สิงห์บุรี ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง ระดับน้ำทรงตัว
-
อ่างทอง ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอไชโย อำเภอป่าโมก อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอสามโก้ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองโผงเผง ซึ่งอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำ ระดับน้ำทรงตัว
-
พระนครศรีอยุธยา น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอท่าเรือ อำเภอนครหลวง อำเภอบางปะหัน อำเภอมหาราช ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผงซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ ระดับน้ำทรงตัว
-
ปทุมธานี เจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ริมน้ำ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ขณะที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีระดับน้ำยังทรงตัว ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
สำหรับประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ เมื่อเวลา 08.20 น. ที่ผ่านมา ปภ.รายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัย ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จ.สกลนคร (อ.เมืองฯ)
ภาคกลาง
จ.จันทบุรี (อ.เมืองฯ มะขาม ขลุง โป่งน้ำร้อน) และตราด (อ.เขาสมิง บ่อไร่ คลองใหญ่)
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ
จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง คีรีมาศ) พิษณุโลก (อ.วังทอง พรหมพิราม บางระกำ) นครสวรรค์ (อ.พยุหะคีรี โกรกพระ เมืองฯ ชุมแสง) และอุทัยธานี (อ.เมืองฯ)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จ.ชัยภูมิ (อ.คอนสวรรค์) ขอนแก่น (อ.แวงน้อย แวงใหญ่ โคกโพธิ์ไชย ชนบท มัญจาคีรี พระยืน บ้านแฮด บ้านไผ่ เมืองฯ) มหาสารคาม (อ.โกสุมพิสัย กันทรวิชัย เมืองฯ) กาฬสินธุ์ (อ.ฆ้องชัย กมลาไสย ร่องคำ) ร้อยเอ็ด (อ.จังหาร เชียงขวัญ ธวัชบุรี โพธิ์ชัย เสลภูมิ ทุ่งเขาหลวง พนมไพร อาจสามารถ โพนทราย สุวรรณภูมิ) ยโสธร (อ.เมืองฯ คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย ค้อวัง) นครราชสีมา (อ.โนนสูง พิมาย คง แก้งสนามนาง ประทาย เฉลิมพระเกียรติ ชุมพวง เมืองยาง) บุรีรัมย์ (อ.สตึก) สุรินทร์ (อ.ชุมพลบุรี ท่าตูม รัตนบุรี) ศรีสะเกษ (อ.เมืองฯ โพธิ์ศรีสุวรรณ บึงบูรพ์ ยางชุมน้อย ราษีไศล ศิลาลาด อุทุมพรพิสัย กันทรารมย์) และอุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ เขื่องใน ดอนมดแดง ม่วงสามสิบ สว่างวีระวงศ์)
ภาคกลาง
จ.ลพบุรี (อ.เมืองฯ บ้านหมี่ โคกสำโรง) สระบุรี (อ.เมืองฯ เสาไห้ หนองโดน บ้านหมอ ดอนพุด) สุพรรณบุรี (อ.บางปลาม้า สองพี่น้อง) สิงห์บุรี (อ.เมืองฯ อินทร์บุรี พรหมบุรี ท่าช้าง) อ่างทอง (อ.เมืองฯ ไชโย ป่าโมก วิเศษชัยชาญ สามโก้) พระนครศรีอยุธยา (อ.ผักไห่ เสนา บางบาล พระนครศรีอยุธยา บางไทร บางปะอิน ท่าเรือ นครหลวง บางปะหัน มหาราช) ปทุมธานี (อ.เมืองฯ สามโคก) และนครปฐม (อ.นครชัยศรี)
พื้นที่เฝ้าระวังดินถล่ม
ภาคตะวันออก
จ.ตราด (อ.เขาสมิง บ่อไร่)
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
ภาคตะวันออก
จ.จันทบุรี และตราด
ภาคใต้
จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
พื้นที่ที่มีฝนฟ้าคะนอง
ภาคเหนือ
จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จ.เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์
ภาคกลาง
จ.ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคใต้
จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ พื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝนตกหนัก ปริมาณฝนสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเมือง อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังระยะสั้นๆ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งอาจเกิดดินถล่ม พื้นที่ริมลำน้ำอาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมในระดับสูง ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้า รวมทั้งการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทาง
สำหรับประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล ให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร ให้ตรวจสอบอุปกรณ์ความปลอดภัยให้มีความพร้อมก่อนออกเดินเรือ และควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปพร. จิตอาสา เครือข่ายอาสาสมัคร องค์กรสาธารณกุศลได้เตรียมความพร้อมตามแผนเผชิญเหตุ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ พร้อมประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับชุมชน/หมู่บ้านในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวหรือเสียงตามสายประจำหมู่บ้าน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย