ปปช. สุ่มตรวจ โครงการอาหารกลางวัน บางโรงเรียนไม่ได้งบ ครูต้องช่วยแชร์คนละ 300

Home » ปปช. สุ่มตรวจ โครงการอาหารกลางวัน บางโรงเรียนไม่ได้งบ ครูต้องช่วยแชร์คนละ 300


ปปช. สุ่มตรวจ โครงการอาหารกลางวัน บางโรงเรียนไม่ได้งบ ครูต้องช่วยแชร์คนละ 300

ปปช. สุ่มตรวจ โครงการอาหารกลางวัน พบบางโรงเรียนไม่ได้งบ ครูต้องช่วยแชร์คนละ 300 บาท ต่อเดือน เนื่องจากปัญหาความล่าช้าของเงินอุดหนุน

วันที่ 23 พ.ค.2566 นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ และเจ้าหน้าที่ ปปช.ตรัง พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง และเครือข่ายภาคประชาชน ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านนาเมืองเพชร ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง โดยโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนชั้นอนุบาล จำนวน 80 คน ชั้นประถม จำนวน 277 คน ชั้นมัธยม 1-3 จำนวน 100 คน ซึ่งทางโรงเรียนได้ค่าหัวนักเรียนหัวละ 22 บาท จากเทศบาลตำบลนาเมืองเพชร โดยต้องไปรับเช็ค 100 วัน ต่อ 1 ภาคเรียน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เปิดเรียนผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว ทางเทศบาลยังไม่จัดสรรเงินงบประมาณมาให้ โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ดังนั้น บรรดาครูในโรงเรียน จึงช่วยกันแชร์ค่าอาหารกลางวันให้คนละ 300 บาทต่อเดือน เพราะจากปัญหาความล่าช้าของเงินอุดหนุนดังกล่าว จึงทำให้ทางโรงเรียนต้องรวมเงินลงขันจ่ายให้กับคู่สัญญาไปก่อน ซึ่งทางโรงเรียนแจ้งว่าได้จัดซื้อจัดจ้างแบบอาหารปรุงสำเร็จ แต่เมื่อขอตรวจสอบเอกสาร ทางโรงเรียนแจ้งว่าเอกสารทั้งหมดได้ส่งไปเทศบาลหมดแล้ว จึงไม่มีให้ตรวจสอบ

สำหรับเมนูอาหารในวันนี้คือ แกงไตปลา ผัดผักกะหล่ำปลี ส่วนผลไม้คือ ฝรั่ง และมีไก่ต้มฝัก เป็นเมนูเสริมให้กับเด็กอนุบาล ซึ่งอาหารที่จัดทำขึ้นเพียงพอต่อนักเรียนทุกคน แต่จากการตรวจสอบพบว่า มีเด็กจำนวนมากรับประทานอาหารเหลือในจาน หรือแทบจะไม่แตะอาหารเลย และหลายคนหันไปซื้อมาม่าคัพจากสหกรณ์มาใส่น้ำร้อนรับประทานแทนข้าว

จากการพูดคุยกับแม่ครัวโรงเรียน ระบุว่า เป็นผู้ไปจัดซื้ออาหารมาปรุงเอง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการดำเนินการในลักษณะที่ทางโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยนำงบประมาณไปจ้างแม่ครัวซื้อวัตถุดิบ และมาปรุงให้กับนักเรียน แต่เมื่อสอบถามว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างหรือไม่ ทางโรงเรียนปฏิเสธการให้สัมภาษณ์

นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ปปช.ตรัง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ในครั้งนี้ ได้รับข้อมูลจากผู้บริหารสถานศึกษา และครูว่า เปิดภาคเรียนใหม่มาหลายวันแล้ว แต่ทางโรงเรียนยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ต้องช่วยกันแชร์เงินกันเพื่อให้ได้มีการเบิกจ่ายให้กับคู่สัญญาในการจัดทำโครงการอาหารกลางวัน เป็นเงินกว่า 30,000 บาท

ส่วนการจัดทำโครงการอาหารกลางวันก็ได้มีข้อสังเกตในเรื่องของคุณภาพของอาหาร เช่น บางเมนูที่ทำมา น้องๆ นักเรียนไม่ชอบทาน เช่น ผัดกะหล่ำปลี หรือฟักต่างๆ ทำให้ต้องมีการเททิ้ง เป็นที่น่าเสียดาย ก็พยายามให้ทางโรงเรียนปรับปรุงเมนูให้สอดคล้องกับ การบริโภคของนักเรียน ซึ่งหากเป็นไปตามหลักโภชนาการ ก็สามารถจะเกิดทั้งในเชิงคุณภาพและในเชิงปริมาณ

ขณะที่ นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า เท่าที่ลงไปตรวจสอบแบบที่ทางโรงเรียนไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้าก็พบว่า อาหารกลางวันที่จัดให้นักเรียนนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างจะดี คือ มีสารอาหารครบถ้วน ทั้งในส่วนของโปรตีน ผัก และผลไม้ แต่ประเด็นปัญหาของทางโรงเรียนคือ ลักษณะของการจ้างผู้มาทำอาหารที่ยังต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม และต้องนำมาตรวจสอบกันอีกครั้งว่า โรงเรียนใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบไหนกันแน่

เพราะเท่าที่สังเกตและขอข้อมูลยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอว่า จะทำถูกต้องตามระเบียบที่ทาง สพฐ. กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งก็จะต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดหลังจากนี้ เพื่อให้โรงเรียนทำให้ถูกต้องตามระเบียบ รวมทั้งเฝ้าระวังในเรื่องคุณภาพและปริมาณของอาหารที่นักเรียนจะได้รับในอนาคต

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ