ปปช. จับตา โครงการใหญ่ร้อยเอ็ด ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำ สูญงบฯ 400 ล้าน ปล่อยเลี้ยงควาย

Home » ปปช. จับตา โครงการใหญ่ร้อยเอ็ด ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำ สูญงบฯ 400 ล้าน ปล่อยเลี้ยงควาย



ปปช. จับตา โครงการใหญ่ร้อยเอ็ด ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำธวัชชัย สร้างแล้วทิ้ง สูญงบฯ 400 ล้าน ปล่อยร้าง เป็นสนามหญ้าเลี้ยงควาย เรียกหน่วยงานแจง

วันที่ 5 ส.ค.65 ที่จ.ร้อยเอ็ด นายธีรัตน์ บางเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังมีการแจ้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center: CDC) ผ่านทางเพจสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ว่ามีการ โครงการก่อสร้างบริเวณอ่างเก็บน้ำธวัชชัย ต.มะอึ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ที่มีทั้งการขุดลอกอ่างน้ำ สร้างถนน สร้างอาคาร งบประมาณ 400,000,000 บาท

นายธีรัตน์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับข้อมูลร้องเรียนเข้ามา ตนและเจ้าหน้าที่รีบดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น โดยลงพื้นที่ด้วยตัวเอง ซึ่งในบริเวณดังกล่าวพบว่ามีการก่อสร้างอาคารจริง โดยเป็นอาคารประชุมขนาดใหญ่ มีสวนสาธารณะโดยรอบ พร้อมถนนรอบบริเวณ แต่มีลักษณะของการทรุดโทรม ต้นไม้เหี่ยวเฉา ห้องน้ำมีสภาพพังเสียหาย ไม่ได้รับการดูแล ปล่อยให้ชาวบ้านนำปศุสัตว์เข้ามาในพื้นที่สวนสาธารณะ ทำให้สนามหญ้าพังเสียหาย มีมูลสัตว์ บนบริเวณถนน

แต่มูลค่าการก่อสร้างจะเท่ากับที่แจ้งมาหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลในแน่ชัดก่อน สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ทำหนังสือไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และมีบางส่วนราชการฯตอบมาแล้ว และจะรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

“สภาพโครงการฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำธวัชชัยถูกทิ้งร้าง ตัวอาคารหอประชุมใหญ่พัง คันอ่างทรุด กำลังตรวจสอบว่าหน่วยงานใดที่เป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเบื้องต้นทราบว่าประกอบไปด้วยหลายหน่วยงานร่วมกัน และมูลค่าสูงถึง 400 ล้านบาท ตอนนี้อยู่ในชั้นรวบรวมข้อมูล ซึ่งหากมีข้อมูลเพียงพอคงสามารถตั้งไต่สวนได้ แต่ในเบื้องต้นนี้พบว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง โดยต้องพิจารณาถึงเรื่องความคุ้มค่าของการก่อสร้างด้วย”นายธีรัตน์ กล่าว

นายธีรัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำธวัชชัย เดิมชื่อหนองจอกเจี้ย ตั้งอยู่ต.นิเวศน์ และต.มะอึ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด มีเนื้อที่ 2.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,812 ไร่ มีน้ำขังตลอดปี เป็นหนองน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทำมาหากินของราษฎรที่อาศัยอยู่รอบๆ รวม 6 หมู่บ้าน ท้ายอ่างเก็บน้ำมีถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2044 (ร้อยเอ็ด – ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด – มุกดาหาร) ตัดผ่านฝั่งทางทิศเหนือของถนน กรมธนารักษ์ได้ขอคืนจากกรมชลประทาน และมอบให้ส่วนราชการต่างๆ เข้าครอบครอง ได้แก่ แขวงทางหลวงร้อยเอ็ด สำนักงานบังคับคดีร้อยเอ็ด และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดร้อยเอ็ด

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ