“ปชป.” แนะ “นักการเมือง-กลุ่มเคลื่อนไหว” วางเป้าหมายส่วนตัวลงชั่วคราว หันมาร่วมมือเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับประชุมเอเปค ชี้ ไม่มีใครอยากให้ซ้ำรอยปี 52
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. ว่า ถือเป็นความภูมิใจของคนไทยทุกคนที่จะได้มีโอกาสต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง สมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ และประเทศที่ไทยเชิญมาเข้าร่วมประชุมอีก 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส ซาอุดิอาระเบีย และกัมพูชา
ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงบทบาทในเวทีโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองโลกปัจจุบันที่ยังต้องเผชิญหน้ากับความตึงเครียด จากกรณีการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน การเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะส่งผลร้ายแรงกว่าไวรัสโควิด-19
การสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน ดังนั้น การประชุมเอเปคที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด และเฝ้าติดตามผลการประชุมที่จะเกิดผลต่อคนไทยทั่วไปโดยรวม
นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีนักการเมืองและกลุ่มการเมืองบางกลุ่มพยายามด้อยค่าการประชุมเอเปคในครั้งนี้ โดยพยายามเคลื่อนไหวตั้งแต่การกดดันให้ยุบสภา การโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่าไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศในการประชุมระดับโลกได้ หรือแม้แต่การนำเรื่องที่ไม่เป็นสาระสำคัญทางการทูต คือการมาหรือไม่มาของผู้นำประเทศต่างๆ มาเป็นเรื่องให้คนไทยเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
ลามไปจนถึงความเคลื่อนไหวที่ทำให้คนไทยต่างตระหนกตกใจ เพราะกลัวว่าจะซ้ำรอยปี 2552 นั้น ขอให้บรรดานักการเมืองและกลุ่มการเมือง ควรคิดให้รอบคอบว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค นอกจากรัฐบาลจะเป็นแกนหลักในการดำเนินงานแล้ว ยังมีภาคเอกชนจำนวนมากที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ รวมทั้งประชาชนจำนวนมากที่ได้นำของดีที่เป็นความภาคภูมิใจของแต่ละพื้นที่ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมสำคัญระดับโลกอีกด้วย
“ผมอยากให้บรรดานักการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ วางเป้าหมายส่วนตัวทางการเมืองลงชั่วคราวเสียก่อน และหันมาร่วมมือกันเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ตามแนวคิดที่ว่า เจ้าบ้านที่ดีเป็นกันได้ทุกคน เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ต่างแยกแยะออกว่า อันไหนเรื่องการเมือง อันไหนเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ
และผมเชื่อว่าคนไทยทั่วไปคงไม่ต้องการให้คนไม่กี่คน มาทำลายความตั้งใจของทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันในการจัดการประชุม ซึ่งจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย และสูญเสียผลประโยชน์มากมายที่ไทยควรจะได้รับในการประชุมฯ อีกด้วย” นายชัยชนะ กล่าว