ประชาธิปัตย์ ยุค “เฉลิมชัย” นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค แค่ 7 วัน เลือดสีฟ้าไหลออกไม่หยุด
วันนี้ (12 ธ.ค.) หากนับเวลาก็ครบ 7 วัน พอดิบพอดีสำหรับการนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ของ “นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน”
- ไม่พลิกโผ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 แบบไร้คู่แข่ง
ซึ่งพอได้รับตำแหน่งไม่ทันข้ามวัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 ก็ประกาศลาออกจากพรรคทันทีในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังยืนยันว่าจะไม่ไปร่วมงานกับพรรคอื่น และยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป เรียกว่าแค่เริ่มต้นก็สั่นคลอนกำลังขุนพลของประชาธิปัตย์อย่างมากเลยทีเดียว
หลังจากนายอภิสิทธิ์ประกาศลาออกได้ไม่นาน นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต สส.ระยอง หลายสมัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศลาออกในวันเดียวกัน พร้อมให้เหตุผล 4 ข้อที่ตัดสินใจลาออก และขอเฝ้าดูผู้บริหารชุดใหม่พาพรรคไปสู่จุดไหน
ด้านนายสุรันต์ จันทร์พิทักษ์ อดีตสมาชิกสภา กทม. อดีต สส.กทม. ก็โพสต์เฟซบุ๊กประกาศลาออกในวันที่ 9 ธ.ค. เช่นกันตามด้วย นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ “ไฮโซติ๊งต่าง” แม่ยก ปชป. ก็ไพสต์ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
รวมถึง นายวิบูลย์ ศรีโสภณ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตลอดชีพ ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกในวันเดียวกันอีกด้วย และต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2566 นายธนวัช ภูเก้าล้วน อดีตผู้สมัคร ส.ส.กระบี่ ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กประกาศลาออกจากพรรค
จากนั้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2566 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต สส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กลาออก โดยระบุว่า “คิดหนักมา 2 วัน แม้ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่ในวันที่จิตวิญญาณประชาธิปัตย์มิอาจเปล่งประกาย หลังหารือทีมงานที่สู้ร่วมกันมากว่า 28 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์…… ด้วยรักและผูกพัน”
นอกจากนี้ก็ยังมี นางอัญชลี วานิช เทพบุตร อดีต สส.ภูเก็ต และ น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีต สส.กทม. อดีต สก. อดีตโฆษกสภากรุงเทพมหานคร อดีต สข. ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กประกาศลาออกในวันเดียวกันด้วย
ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายวิทเยนทร์ มุตตามระ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ส่งหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคไปที่นายทะเบียนพรรคเช่นกัน
ด้าน นายสุริยพงศ์ ทับทิมแท้ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการทีมเศรษฐกิจ ในทีมอเวนเจอร์เศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อนายทะเบียนพรรคแล้ว ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาเช่นกัน
จากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ภายใต้การบริหารงานพรรคประชาธิปัตย์ ของ “นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรคคนใหม่และทีมบริหารพรรคชุดใหม่ จะเป็นในทิศทางใดต่อไป จะสามารถกอบกู้ศรัทธาของพรรคให้กลับคืนมาอักครั้งได้หรือไม่
- เปิดประวัติ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9