ปคบ. หอบสำนวน 7 ลัง หมื่นกว่าหน้า ส่งอัยการ ฟ้อง“ดารุมะซูชิ-เมธา” ฉ้อโกงปชช.

Home » ปคบ. หอบสำนวน 7 ลัง หมื่นกว่าหน้า ส่งอัยการ ฟ้อง“ดารุมะซูชิ-เมธา” ฉ้อโกงปชช.



ปคบ. หอบสำนวน7ลัง หมื่นกว่าหน้าส่งอัยการ ฟ้อง “ดารุมะ” โฆษกอสส.ลั่นพิจารณาเสร็จทันฟ้อง “เมธา” ก่อนฝากขังครั้งสุดท้าย 14 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2565 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รองผู้กำกับ กก.1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เดินทางมาส่งสำนวน พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องคดี ดารุมะซูชิ 7 ลัง ต่อพนักงานอัยการ มีผู้ต้องหา 2 ราย ได้แก่ บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด และนายเมธา ชลิงสุข อายุ 39 ปี โดยมีนายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รับสำนวน

นายอิทธิพร กล่าวว่า วันนี้ตำรวจได้นำสำนวนคดีดารุมะซูชิที่มีผู้ต้องหา 2 รายในข้อหา ร่วมกันโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแหล่งกำเนิดสภาพคุณภาพปริมาณหรือสาระสำคัญอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือผู้อื่นโฆษณาหรือใช้ฉลากสินค้าที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่ควรรู้ก่อนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอม โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ และร่วมกันฟอกเงิน มามอบให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสำนวนคดี

ในคดีนี้มีผู้เสียหายทั้งหมด 999 คนมีความเสียหาย 42 ล้านบาทเศษ และยังมีคูปองที่ผู้ต้องหาขายแล้วประชาชนยังไม่ได้นำไปใช้อีกกว่า 129,000 ใบ เป็นวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 28 ล้านบาทเศษ

ในส่วนของผู้ต้องหา ทางพนักงานสอบสวนได้นำไปฝากขังที่ศาลอาญาจะครบฝากขังครั้งสุดท้ายในวันที่ 14 ก.ย.นี้ และพนักงานอัยการคงดำเนินการตามขั้นตอนให้เสร็จสิ้นทันกำหนด แต่เนื่องจากคดีนี้มีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ดังนั้น พนักงานอัยการคดีพิเศษคงต้องส่งสำนวนเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณามีคำสั่งตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสำนวนของคดีจำนวนมากแต่พนักงานอัยการสามารถดำเนินการได้ทันกำหนดฝากขังครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

นายประยุทธ กล่าวว่า ที่คดีนี้มีการทำผิดนอกราชอาณาจักรเนื่องจากมีการโอนเงินขณะกระทำผิดบางช่วงเกิดขึ้นต่างประเทศ หากมีการกระทำความผิดส่วนใดส่วนหนึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร ก็อยู่ในอำนาจสอบสวนของอัยการสูงสุด ตาม ป.วิ.อาญา20

คำว่าคดีนอกราชอาณาจักรมีทั้งการกระทำผิดที่อยู่ต่างประเทศทั้งหมดหรือทำอยู่ต่างประเทศบางส่วนแต่เชื่อมโยงการกระทำในต่างประเทศสำหรับกรณีนี้ธุรกรรมด้านธุรกิจของดารุมาซูชิเกิดในประเทศไทยทั้งหมด แต่มีผู้เสียหายโอนเงินบางช่วงให้เขาในขณะที่ตัวผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ แต่ธุรกรรมทั้งหมดไม่มีธุรกิจในต่างประเทศ ดังนั้นการกระทำเช่นนี้จึงเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร

ด้าน พ.ต.ท.ปริญญา กล่าวว่า สำนวนนี้พนักงานสอบสวนได้มีการรับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและมีการแต่งตั้งเป็น คณะพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานอย่างดี เนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชน สื่อมวลชนให้ความสนใจ จึงทำอย่างรอบคอบ แต่อาจจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่นอกเหนือจากสิ่งที่พนักงานสอบสวนมองเห็น พนักงานอัยการจะเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกรอบของเวลาที่พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการได้ โดยสำนวนคดีในวันนี้มีทั้งหมด 47 แฟ้ม 15,000 กว่าแผ่น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ