“บุพาการีลำดับแรก” คืออะไร ทำไมถึงจำเป็น พร้อมรอลุ้นผล “สมรสเท่าเทียม” จากสว. 18 มิ.ย.นี้

Home » “บุพาการีลำดับแรก” คืออะไร ทำไมถึงจำเป็น พร้อมรอลุ้นผล “สมรสเท่าเทียม” จากสว. 18 มิ.ย.นี้

ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ หลังเมื่อวันที่ 27 มี.ค.67 ที่ผ่านมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบใน “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีสมรสเท่าเทียม

สำหรับเนื้อหาของร่างกฎหมายมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้การสมรสครอบคลุมบุคคลทุกเพศ, อายุสมรสเปลี่ยนเป็น 18 ปี (เดิม 17 ปี), สถานะทางกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกันเป็น “คู่สมรส” มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิง เช่น สิทธิสวัสดิการราชการ, หักลดหย่อนภาษี เป็นต้น, สามารถขอรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ 

  • น่ายินดี! สภาผ่านกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็น “บุพการีลำดับแรก” ที่ถูกปัดตกในที่ประชุมผู้แทนราษฎร จึงทำให้ต้องรอลุ้นต่อไปในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย. 2567) สมาชิกวุฒิสภา(สว.) จะเห็นด้วยกับภาคประชาชนและส่งให้สส.แก้ไขเพิ่ม บุพการีลำดับแรกหรือไม่ 

วันนี้ Sanook จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก “บุพการีลำดับแรก” คืออะไร สำคัญอย่างไร รวมทั้งมาเปิดขั้นตอนการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมของสว. ว่ามีประเด็นไหนที่น่าจับตามองกันบ้าง จะเป็นอย่างไรไปดูกันเลย

“บุพาการีลำดับแรก” คืออะไร ทำไมถึงจำเป็น พร้อมรอลุ้นผล “สมรสเท่าเทียม” จากสว. 18 มิ.ย.นี้

บุพการีลำดับแรก คืออะไร?

คำว่า “บุพการีลำดับแรก” หมายถึง ผู้มีสิทธิตามกฎหมายในตัวเด็ก หน้าที่เทียบเท่ากับผู้เป็นพ่อและแม่ แต่ไม่ครอบคลุมถึงเครือญาติ

สำหรับสาเหตุที่ชุมชน LGBTQIAN+ อยากผลักดันให้กฎหมายคุ้มครองถึงคำนี้ด้วย เนื่องจากการระบุคำว่า “บุพการีลำดับแรก” แทนคำว่า “บิดา-มารดา” จะทำให้คู่สมรสเพศเดียวกัน ได้รับสิทธิคุ้มครองเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงอย่างแท้จริง

กล่าวคือ คำว่า “บุพการีลำดับแรก” ถือเป็นคำกลางในการระบุสถานะในทางกฎหมาย เนื่องด้วยคำว่า “บิดา-มารดา” เป็นคำที่ระบุเพียงเพศชายและหญิง ซึ่งหากกฎหมายระบุเพียงคำว่า บิดา-มารดา นั้น ทำให้กลุ่มคู่รักเพศเดียวกันไม่ได้รับคุ้มครองสิทธิในการตั้งครอบครัว หรือมีสิทธิในตัวบุตรเทียบเท่ากับคู่รักชายหญิง

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจเกิดข้อสงสัยว่าแล้วที่บอกว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คุ้มครองเรื่องการอุปการะรับบุตรแล้ว ทำไมถึงตั้งครอบครัวไม่ได้ เนื่องจากการอุปการะบุตรนั้นไม่ได้เทียบเท่ากับ “บิดา-มารดา” โดยการอุปการะบุตรในคู่สมรส จะมีคู่สมรสเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่มีสิทธิในตัวเด็ก ส่วนอีกคนจะไม่มีสิทธิในตัวเด็กเฉกเช่นบิดามารดา 

จึงทำให้ชุมชน LGBTQIAN+ และกลุ่มความเท่าเทียมต่าง ๆ อยากส่งเสริมให้กฎหมายรองรับบุพการีลำดับแรก 

  • กลุ่ม “ฟอร์ตี้ฟายไรต์” ร้อง ส.ว. ให้เร่งผ่าน “ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับแก้ไข”
  • LOVE IS LOVE: คุยกับหนึ่ง-แพท คู่รัก LGBTQIA+ จากความรักที่สังคมไม่ยอมรับ สู่สมรสเท่าเทียม
  • คุยกับ “ปู่กัญจน์-ย่าตุ๊ก” คู่รักที่ใช้เวลากว่า 30 ปีกว่าสังคมยอมรับ

ทำไมข้อเสนอ “บุพการีลำดับแรก” ถูกปัดตก

สำหรับสาเหตุที่ข้อเสนอบุพการีลำดับแรก ถูกปัดตกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากกรรมาธิการเสียงข้างมาก ลงความเห็นว่า ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบของกฎหมายนี้มากนัก จึงต้องรอลุ้นต่อในชั้นวุฒิสภาต่อไป 

“บุพาการีลำดับแรก” คืออะไร ทำไมถึงจำเป็น พร้อมรอลุ้นผล “สมรสเท่าเทียม” จากสว. 18 มิ.ย.นี้

สว.มีอำนาจในกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างไร?

สำหรับการประชุมวุฒิสภา สว.ไม่มีอำนาจในการ “ปัดตก” ข้อเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้หายไปเลยได้ แต่ต้องรอลุ้นว่าสว.จะลงมติอย่างไร โดยสามารถลงมติได้ 3 กรณี คือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และแก้ไข โดยรายละเอียดของแต่ละกรณีมีดังนี้

1.กรณีเห็นชอบ

ถ้าสว.ลงมติเห็นชอบ เท่ากับว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสภา โดยไม่คุ้มครองถึงบุพการีลำดับแรกตามความเห็นของสส. และนำไปสู่ขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป

2.กรณีไม่เห็นชอบ 

ถ้าสว.ลงมติไม่เห็นชอบให้ยับยั้งกฎหมาย จะส่งกลับให้สส.ลงมติใหม่ หากสส.นำกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่และลงมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งของสส.ที่มีอยู่ จะถือว่าร่างกฎหมายเห็นชอบ และนำไปสู่ขั้นตอนออกกฎหมายต่อไป

3.กรณีให้แก้ไข

หากสว.ลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติม จะมีการส่งร่างกฎหมายแก้ไขไปให้สส. หากสส. ไม่เห็นด้วยจะมีการจัดตั้ง  “คณะกรรมาธิการร่วม” ของสองสภาขึ้นมาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง โดยกรรมาธิการมีจำนวน สส. และ สว. เท่ากัน หาคณะกรรมธิการร่วมเห็นชอบ ก็จะนำไปสู่การออกกฎหมายต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ