บุกจับบุหรี่ไฟฟ้า 6 ล้าน ยึดของกลางนับหมื่นชิ้น เจ้าหน้าที่เข้าค้น 6 เป้าหมาย หลังพบมีการลอบขายเป็นจำนวนมาก พบ นักเรียนประถม ซื้อมาสูบ
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 อ.เมือง จ.หนองคาย นายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 พร้อมด้วย นายสมบัติ ค้อนทอง ผอ.ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรหนองคาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร หน่วยสืบสวนปราบปรามประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า กว่า 10,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท
นายพร้อมชาย กล่าวว่า จากการที่นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้มุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าต้องห้ามเข้าต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อสกัดกั้นและป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่สืบทราบว่ามีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าให้กับกลุ่มคนทุกประเภท โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
จึงได้ติดตามจนกระทั่งพบแหล่งพักสินค้าและขายสินค้าดังกล่าวในพื้นที่จริง มีแม้กระทั่งเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาไปซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากผู้ค้าเหล่านี้ โดยมีรถเก๋งสีแดง เป็นผู้นำสินค้าบุหรี่ไฟฟ้ามากระจายให้กับแหล่งค้าทั้งหมดนี้ จึงได้พร้อมด้วยตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดขอนแก่น ดำเนินการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 6 แห่ง ทำการตรวจยึดสินค้าได้จำนวนดังกล่าว ซึ่งคาดการว่าบุหรี่ไฟฟ้าเหล่านี้จะลักลอบนำเข้าประเทศในช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ชายแดนหนองคาย
โดยจะอยู่ในพื้นที่ตอนในของประเทศก่อนจะกระจายออกสู่ตลาดต่างจังหวัด มีการขายผ่านออนไลน์และเปิดหน้าร้านขายสินค้าประเภทอื่นบังหน้า แต่มีการลักลอบจำหน่ายอยู่หลังร้าน ซึ่งเป็นอันตรายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเด็กนักเรียนและเยาวชน เนื่องจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเหล่านี้จะใช้กลิ่นและรสที่หลากหลายผสมนิโคตินเพื่อล่อใจให้คนสูบ
โดยสินค้าประเภทบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้านั้นถือเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 และจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าหรือส่งออก ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 บุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จึงถือเป็นของที่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร
และการจำหน่ายของซึ่งตนรู้ว่าเป็นความผิดดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในการตรวจยึดผู้ค้ายินยอมระงับคดีในชั้นศุลกากร ซึ่งจะได้ส่งมอบของกลางให้กับสำนักงานศุลกากรหนองคายดำเนินการตามกฎหมายต่อไป