บิ๊กโจ๊กเจอชัชชาติ กทม.จับมือตร. ทำงานร่วมกัน ร้องเรียนเชื่อมโรงพัก

Home » บิ๊กโจ๊กเจอชัชชาติ กทม.จับมือตร. ทำงานร่วมกัน ร้องเรียนเชื่อมโรงพัก



บิ๊กโจ๊กพบชัชชาติ กทม.จับมือทำงานร่วมกับตำรวจ ร้องเรียนผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ เชื่อมโรงพัก ทั่วประเทศ ผู้ว่ากังวลตุ๊กตุ๊กหลอกนักท่องเที่ยว เร่งจัดการ

วันที่ 26 ก.ค.2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะ แถลงความร่วมมือระหว่าง กทม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยนายชัชชาติ ระบุว่า ท่านพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กรุณาอยากมาเจอเพื่อความร่วมมือกัน ซึ่งกทม.ได้ทำงานร่วมมือกับตำรวจมาตลอด

นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นนโยบายของ ผบ.ตร. ที่ต้องการประสานงานระหว่าง กทม.กับ ตร. ให้เข้มข้นขึ้น เพราะ กทม.ทำงานคนเดียวไม่สำเร็จ ตำรวจมีบทบาทหน้าที่ดูแลความปลอดภัยโดยตรง โดยมีการหารือกัน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การขยายการใช้แอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนกรุงเทพฯ ได้แจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านแอพพ์มากว่า 100,000 เรื่อง ซึ่งมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ 8,000 เรื่อง

โดยทาง กทม.ได้เชื่อมระบบเข้ากับสถานีตำรวจนครบาล 88 แห่งแล้ว ทำให้แต่ละ สน.ได้รับเรื่องร้องเรียนโดยตรง ซึ่งทางตำรวจให้การตอบรับได้อย่างรวดเร็ว ต้องขอขอบคุณที่ทางตำรวจให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

อีกมิติหนึ่งทางตำรวจอยากนำทราฟฟี่ฟองดูว์มาขยายผล โดยผ่านสถานีตำรวจทั่วประเทศไทย กว่า 1,480 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุได้ ซึ่งอาจจะไปรวมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ด้วย ทำให้การใช้เทคโนโลยีได้รวดเร็ว เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของระบบราชการ ตอนนี้มีหลายหน่วยงานอยากมาคุย ท่านนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่จะนัดคุย เพื่อนำทราฟฟี่ฟองดูว์ไปใช้ เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่มีการเปลี่ยนแปลงใน 6 อาทิตย์ที่ผ่านมา

เรื่องสุดท้าย สมาร์ทเซฟตี้โซน (Smart Safety Zone) ซึ่ง กทม.ได้ร่วมมือกับ ตร. ตั้งแต่สมัยอดีตผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ในโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 จำนวน 12 พื้นที่ ที่เป็นจุดที่มีความเสี่ยง มีประชากรหนาแน่น มีนักท่องเที่ยวหนาแน่น ซึ่งการโฟกัสในแต่ละพื้นที่ทำให้มีการทุ่มเททรัพยากร เหมือนการทำแซนด์บ็อกซ์

โดยปัจจุบันมีกล้องที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถวิเคราะห์อัตลักษณ์บุคคลที่มีความเสี่ยงได้ รวมถึงเทคโนโลยีการข้ามทางม้าลายที่ปลอดภัย พร้อมกับนำชุมชนมาเป็นแนวร่วมอาสาสมัครเฝ้าระวังอาชญากรรม พอทำพื้นที่เป็นพื้นที่ต้นแบบแล้ว ก็จะขยายไปพื้นที่อื่นต่อได้ เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ กทม. และ ตร. ร่วมมือกันเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้มีการมอบหมายให้ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. ไปศึกษาว่า สมาร์ทเซฟตี้โซน ต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง กทม.จะสนับสนุนด้านไหน ซึ่งจะดูเรื่องคนไร้บ้าน ความสกปรก ห้องน้ำสาธารณะ ต้องมีเสาแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน SOS การเชื่อมข้อมูลกล้อง CCTV ของเอกชน ทำให้มีการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในองค์รวม

กรุงเทพฯ จะเปลี่ยนแปลงได้ คือการร่วมมือหลายฝ่าย ตอนนี้มีความร่วมมือมากกมาย ท่านนายกฯ กรุณาให้ทหารเข้ามาช่วยเรื่องน้ำท่วม พอเรามีมิติของความร่วมมือแล้วทุกอย่างเดินหน้าไปได้ ที่ผ่านมามีการเกี่ยงกัน บางทีเราเห็นคนไร้บ้าน ไม่มีใครจัดการ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง เป็นหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แต่ถ้าตำรวจเจอก็จะพาไปส่งที่ พม.เลย พอทำงานเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับประชาชน

ด้าน นายวสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า กทม.เชื่อมโยงระบบ “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” กับสถานีตำรวจในพื้นที่ครบทั้ง 88 สน. เมื่อ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตำรวจรับเรื่องและไปแก้ไขปัญหาเอง

ส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านจราจร และแจ้งเหตุอื่นๆ เช่น มีคนยิงปืน ทาง สน.ก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าระงับเหตุทันที ในส่วนนี้มีทีม 191 คอยติดตามและประสาน สน.ต่างๆ

ภายหลังแถลงข่าว นายชัชชาติได้แสดงความกังวลเรื่องรถตุ๊กตุ๊กหลอกนักท่องเที่ยว โดยได้พูดคุยเบื้องต้นกับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ว่าจะดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง

ที่มา มติชนออนไลน์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ