บิ๊กตู่ เปิดประชุมวิชาการเอเปค รับมือความท้าทายโลก ส่งรอยยิ้มสยามต้อนรับผู้นำ

Home » บิ๊กตู่ เปิดประชุมวิชาการเอเปค รับมือความท้าทายโลก ส่งรอยยิ้มสยามต้อนรับผู้นำ


บิ๊กตู่ เปิดประชุมวิชาการเอเปค รับมือความท้าทายโลก ส่งรอยยิ้มสยามต้อนรับผู้นำ

เริ่มแล้ว! ประยุทธ์ เปิดงานประชุมวิชาการเอเปค รับมือความท้าทายโลก ย้ำความร่วมมือเป็นหัวใจสำคัญนำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤต ขอคนไทยโชว์รัก สามัคคี

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 พ.ย. 2565 ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน APEC University Leaders’ Forum: “Preventing the Next Pandemic (AULF) ภายใต้หัวข้อการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป

โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการในวันนี้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอดรับกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้เอเปค โดยเป็นโอกาสให้
เครือข่ายการศึกษาทั่วโลกได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในระดับนานาชาติ และเป็นเวทีในการแบ่งปันประสบการณ์ในมิติต่างๆ

รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ และอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างภูมิคุ้มกันจากความท้าทายดังกล่าว อีกทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ เรามุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19 ในส่วนเรื่อง Open เน้นการผลักดันให้เอเปคนำเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกมาหารือใหม่ เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายและใช้โอกาสจากบริบทโลกแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การค้ากับโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในส่วนของ Connect ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงของภูมิภาคในทุกมิติ ทั้งการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างสะดวกปลอดภัย และความเชื่อมโยงทางดิจิทัล เพื่อให้เอเปคมีแนวทางการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดในอนาคต โดยยังสามารถรักษาการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด และสุดท้าย Balance เน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม

โดยส่งเสริมโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว : Bio-Circular-Green Economy) ที่สร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันทั้งสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยไทยจะเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรองเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทยมาเร่งกระบวนการทำงานในเอเปค และวางบรรทัดฐานใหม่ให้เอเปคมุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุน ควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน APEC University Leaders' Forum

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน APEC University Leaders’ Forum

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมุ่งขยายความสำคัญไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาสังคมและสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สร้างสรรค์นโยบาย ออกแบบทิศทาง และแผนการบริหารประเทศที่สอดรับกับวิถีความปกติใหม่ของโลก โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสาธารณสุข

แม้เราจะก้าวผ่านการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 มาแล้ว แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นเร่งด่วนของทั่วโลกในขณะนี้คือการทำวิจัยที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือนวัตกรรมเชิงป้องกัน การนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า ความถูกต้องของข้อมูล การเผยแพร่ และรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการบริหารสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล การเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน ต้องอาศัยความถูกต้องทางวิชาการ ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย นักวิชาการ เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม เพื่อขจัดข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อ และข่าวปลอมที่แพร่กระจายและเป็นภัยอยู่ในสังคม

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศ ถึงนโยบายและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และการดูแลประชาชน ทั้งการป้องกัน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 องค์การอนามัยโลกได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบ ในโครงการนำร่องการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษาสถาบันการศึกษา และศูนย์วิจัยต่างๆ ตลอดจนอาสาสมัคร ประชาชนทุกคน และมิตรประเทศ รวมถึงความมุ่งมั่นในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมือทางการแพทย์กับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วย

“ผมขอชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคการศึกษาทั้งหมดที่ได้ร่วมมือกับ ศบค. ในการช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต เช่น CU-RoboCOVID ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม และ Chula COVID-19 Strip Test รวมถึงนวัตกรรมการรักษา ‘วัคซีนใบยา’ ที่เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันเรายังมีผลงานยอดเยี่ยมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สามารถพัฒนาชุดตรวจ และการตรวจชนิดที่ทันเหตุการณ์ หรือการตรวจทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่กำลังระบาดอีกด้วย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรคโควิด-19 คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ

รวมไปถึงองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้น และมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมเชิงวิชาการในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นเวทีแห่งความสำเร็จ เพื่อหารือแนวทางการรับมือกับความท้าทายต่างๆ การศึกษาและการวิจัยร่วมกันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืนสืบต่อไป เราต้องรักและสามัคคีกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สิ่งสำคัญเราต้องการสันติสุขในประเทศไทย ซึ่งเป็นบ่อเกิดทุกเรื่อง ทั้งสังคม เศรษฐกิจ ฉะนั้นเราต้องรักกัน และต้อนรับด้วยยิ้มแห่งสยาม

ทั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับสื่อมวลชนด้วยรอยยิ้มหวาน ว่า “ฝากด้วยนะจ๊ะ” ก่อนที่พูดคุยกับประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลีส ซึ่งประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวว่า “I Like Your smile” ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับถอดหน้ากากอนามัย พร้อมยิ้มหวานให้อีกครั้งก่อนกล่าวขอบคุณ “Thank you” ก่อนส่งสัญลักษณ์ ไอเลิฟยู

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ