บิ๊กตู่ ติดตามสถานการณ์หมู-ไก่-ไข่ขึ้นราคา สั่งการทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการแก้ปัญหาสินค้าแพง ประเมินเพื่อวางแนวทางล่วงหน้าบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์และห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นในหลายประเภทอย่างใกล้ชิดมาตลอด โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ และกำชับให้แต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ให้ร่วมกำหนดมาตรการช่วยเหลือประชาชน ทั้งระยะสั้น และระยะยาวโดยไม่ให้กระทบกลไกตลาด
พร้อมทั้งให้คาดการณ์ในอนาคตว่า เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภค มีราคาสูงขึ้นหลายชนิดอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จะส่งผลให้ราคาสินค้าชนิดใดสูงขึ้นตามมาอีกหรือไม่ ซึ่งนายกฯ ต้องการให้กำหนดวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาไปถึงอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การปรับตัวของราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นไปตามกลไกตลาดอาหารโลก สอดคล้องกับดัชนีราคาอาหารโลก FAO Food Price Index (FFPI) ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานของปี 2564 ไว้ โดยค่าเฉลี่ยของราคาสินค้าอยู่ในระดับสูงสุด นับตั้งแต่ปี 2554
ทั้งนี้ ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดที่สูงขึ้น เช่น เนื้อหมู เป็นผลกระทบจากต้นทุนการเลี้ยง (อาหารสัตว์ ยารักษาโรค) เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาโรคระบาดในสุกรในหลายประเทศและมาตรการลดความเสี่ยง โดยจำกัดจำนวนการเลี้ยงที่ทำให้ปริมาณสุกรในระบบลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าที่บริโภคทดแทนกันได้ เช่น ไข่ ไก่ ปลา จะมีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นในอนาคตได้
ในการนี้ นายกฯได้สั่งการให้ทุกกระทรวงประเมินสถานการณ์ วางแนวทางและมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลประชาชน จะต้องแก้ไขทั้งผลกระทบเฉพาะหน้าและเร่งหาแนวทางช่วยเหลือในระยะยาวให้ครอบคลุม ทั้งกลุ่มผู้ผลิตสินค้า และผู้บริโภค รวมทั้งเน้นย้ำให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมดูแลให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง
“กรณีไข่ไก่ และเนื้อไก่ เริ่มทยอยปรับราคาสูงขึ้นนั้น นายกฯ กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งเพื่อแก้ปัญหาโดยด่วน โดยกรมการค้าภายใน จะลงพื้นที่ติดตาม หากพบการฉกฉวยขึ้นราคา จะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค แต่หากจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าในรายการใด ก็ทำเรื่องมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิสูจน์เป็นรายกรณีว่ามีความจำเป็น ไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรรายย่อยจากการกดราคาทางนโยบาย และเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าขาดตลาดอีก” นายธนกรกล่าว