บิ๊กณุศาศิริ ลั่นเข้าร่วมดีล ATK 8.5 ล้านชุดกับรัฐ เพราะอยากได้ปริมาณเยอะ-ราคาถูกลง

Home » บิ๊กณุศาศิริ ลั่นเข้าร่วมดีล ATK 8.5 ล้านชุดกับรัฐ เพราะอยากได้ปริมาณเยอะ-ราคาถูกลง

ผู้บริหารณุศาศิริ เผยเป็นตัวแทนของ “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” ในการร่วมประกวดราคาจัดหา ATK 8.5 ล้านชิ้น ลั่นเข้าร่วมงานกับภาครัฐครั้งแรกเพื่อต้องการปริมาณสั่งซื้อจำนวนมาก จะได้ส่งผลให้ราคาถูกลงเมื่อสั่งซื้อในอนาคต

วันนี้ (13 ส.ค.) นางสาวรังสินี หวังมั่น product specialist บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องการประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้ระงับใช้และเรียกคืนชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd ภายใต้การควบคุมการผลิตของ Lepu Medical (Europe) Cooperatief U.A. ณ ประเทศจีน นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า กรณีดังกล่าว ทางบริษัทฯ ตรวจสอบพบว่า Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd บริษัทฯ ผู้ผลิตไม่เคยมีการจำหน่าย SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test ในประเทศสหรัฐฯ และไม่เคยยื่นขออนุญาตกับ FDA จากสหรัฐฯ แต่อย่างใด

โดยสินค้าที่ปรากฏในท้องตลาดจำนวน 200,000 ชิ้นนั้น ถูกนำเข้าจากประเทศอื่นซึ่งไม่ใช่ประเทศของบริษัทฯ ผู้ผลิต และไม่ได้ส่งจากบริษัทฯ ผู้ผลิตโดยตรง จึงส่งผลต่อคุณภาพของสินค้า แต่เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้า บริษัทฯ ผู้ผลิต ได้ช่วยทาง FDA ดำเนินการตรวจสอบในส่วนต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบการขนส่งของผลิตภัณฑ์ที่ส่งไปยังผู้จำหน่ายต่างๆ รวมไปถึงการดำเนินการเรียกคืนสินค้าตามระเบียบของ FDA

atk-lepu-1

อีกหนึ่งการรับรองคุณภาพของชุดทดสอบ ATK ที่ทางออสท์แลนด์ฯ นำเข้ามานั้น คือการประกาศจากสหพันธ์ยุโรป โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และ The Health Security Committee และ Federal Institute for Drugs and Medical Devices ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางเยอรมนี หน่วยงาน Bundesinstitut für Arzneimittel und Medizinprodukte (BfArM) ได้ประกาศว่าชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 ภายใต้ชื่อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” เป็นหนึ่งในรายชื่อชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจน ที่ให้ผลการทดสอบที่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งยังผ่านการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังจากออกวางจำหน่ายโดย สถาบัน BIOMEX GmbH Heidelberg ณ ประเทศเยอรมนี

โดยการใช้งานของบุคคลทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งมีผลการศึกษาและทดสอบตามลำดับ ดังนี้ ในเดือนเมษายน 2564 The diagnostic sensitivity was 91.30%, and the specificity was 100% (ความไวในการวินิจฉัยคือ 91.30% และความจําเพาะ 100%) และเดือนมิถุนายน 2564 The diagnostic sensitivity was 95.90%, and the specificity was 100% (ความไวในการวินิจฉัยคือ 95.90% และความจําเพาะ 100%)

นอกจากนี้ ชุดตรวจ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ที่ผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd ยังได้รับการรับรองจาก Conformite European (CE) ซึ่งเป็นกฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยในสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการทดสอบที่ระบุไว้ จึงจะสามารถจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในสหภาพยุโรปและเขตเศรษฐกิจยุโรป

ทั้งนี้ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นบริษัทผู้จดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการจัดหาและนำเข้าชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ภายใต้ชื่อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน และดำเนินการแต่งตั้งให้ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ให้เข้าร่วมการประมูล และเป็นผู้ชนะการประมูลงานจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินงานภายใต้โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อแจกให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุด

ขณะที่ นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ตัวแทนจำหน่าย ATK ของ “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” และเป็นผู้นำ ATK เข้าประมูลในโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า กรณีชนะประมูลโครงการ ซึ่งบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้แต่งตั้งให้ณุศาศิริ เข้าประมูลโครงการของ สปสช. โดยณุศาศิริ มีทุนจดทะเบียนกว่า 7,641 ล้านบาท และมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำเข้าชุด ATK มาให้รัฐบาลได้ทันตามกำหนด

ซึ่งราคาประมูลที่แต่ละบริษัทได้ยื่นซองเข้าประมูลงานนั้นไม่แตกต่างกันมาก โดย “ณุศาศิริ” ชนะการประมูลเหนือคู่แข่งในราคาที่ต่ำกว่ากันเพียงชิ้นละ 2 บาท และ ATK ที่นำเข้าประมูลนั้น ราคาต่อชิ้นไม่ถูก แต่ทางบริษัทฯ จัดซื้อในปริมาณมากถึง 8.5 ล้านชิ้น จากที่เคยนำเข้าจำนวนหลักแสนชิ้นจึงได้ราคาต่อชิ้นที่ต่ำลง เพราะยิ่งสั่งซื้อในปริมาณที่สูงมาก ยิ่งสามารถต่อรองราคากับโรงงานได้

“ณุศาศิริทำธุรกิจมา 25 ปีแล้ว บอกได้เลยว่าไม่เคยร่วมงานกับภาครัฐแม้แต่ครั้งเดียว ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่เข้าไปร่วมเสนอราคาประมูลไม่ได้คาดหวังเลยว่าจะชนะ แล้วถ้าไปดูก็จะเห็นว่าชนะกันแค่ 2 บาทเท่านั้น แต่ที่เข้าร่วมเพราะคิดว่าอยากได้ปริมาณสั่งซื้อเยอะๆ เนื่องจากปกติก็สั่งซื้อมาบริจาคหรือใช้ในธุรกิจสุขภาพของเครืออยู่แล้วในปริมาณสูงสุดหลักแสนชิ้น ดังนั้นหากได้ปริมาณในระดับ 8.5 ล้านชิ้น ต่อไปก็จะสั่งซื้อได้ในราคาถูกลง ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโปรเจกต์นี้จะกำไรหรือขาดทุนมากน้อยขนาดไหน เพราะไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเลย” นางศิริญา ระบุ

  • อภ.-อย. จับมือแถลงปมจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ยืนยันไม่มีล็อกสเปก-คุณภาพได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ณุศาศิริ มีแผนรุกธุรกิจด้านการแพทย์-สุขภาพ และเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานในอนาคตและพัฒนาธุรกิจด้านสุขภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลพานาซีเยอรมนี และพบว่าในประเทศเยอรมนีและอีกหลายประเทศในยุโรป มีการใช้และวางจำหน่าย ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ซึ่งผลิตโดย Lepu Medical Technology Co., Ltd. สาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างแพร่หลาย และได้รับใบรับรองจากสมาคมวัคซีนของเยอรมนีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับรองมาตรฐานจาก EU

ในขณะที่ประเทศไทย บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้นำเข้ามาทำตลาด ณุศาศิริ จึงได้ติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อเสนอขายกับหน่วยงานต่างๆ และผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทฯ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ